ท่าทีของสนช.ต่อกรณี 2 พ.ร.ป. นั่นคือ 1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ 1 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.มากด้วยความละเอียดอ่อน

ถามว่าจะส่งผลต่อ “โรดแม็ป” หรือไม่

แม้หลายคนทั้งจากคสช.และสนช.จะออกมายืนยันว่า “โรดแม็ป” ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

แต่ถามว่าคน “เชื่อ” หรือไม่

การศึกษาท่าทีของ 1 สนช. และท่าทีของ 1 พรรคการเมือง ต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะท่าทีจาก นายสมชาย แสวงการ

ข้อน่าสังเกตก็คือ สนช.จำนวน 30 คนทำหนังสือผ่านประธานสนช.เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และตีความเน้นอย่างจำเพาะไปยังร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

เมื่อมีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ด้วย

“ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคทำสัตยาบันร่วมกันมาเลยว่า ยินยอมให้เลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป 3 เดือนสนช.จะดำเนินการส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันที”

เป็นคำตอบจาก นายสมชาย แสวงการ

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายสมชาย แสวงการ เป็นใคร เขามิได้เป็นสนช.อย่างธรรมดาหากแต่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสนช.อยู่ด้วย

นั่นก็คือ เขาเป็นเลขานุการ “วิปสนช.”

ถามว่าความน่าสนใจจากข้อเสนออันมาจาก นายสมชาย แสวงการ ในเรื่องการยื่นร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ตามร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.อยู่ตรงไหน

คำตอบเห็นได้ชัดว่าอยู่ที่ “สัตยาบัน”

เป็นสัตยาบันของพรรคการเมืองทุกพรรค “ยินยอมให้เลื่อนโรดแม็ปเลือกตั้งออกไป 3 เดือน” ตรงนี้ต่างหากคือ “เป้าหมาย”

อย่าลืมบทบาทของร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.อย่างเด็ดขาด

การเติมเนื้อหาลงไปในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งให้เลื่อนการบังคับใช้หลังประกาศออกไป 3 เดือนส่งผลให้โรดแม็ปการเลือกตั้งเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นี่เท่ากับว่าต้องการให้เลื่อนออกไปอีก 3 เดือน

เพียง “ข้อเสนอ” นี้ก็ทำให้มองเห็นเป้าหมายของสนช.หรือเป้าหมายของ นายสมชาย แสวงการ เด่นชัดออกมาแล้วว่าเป็นอย่างไร

ความหมายก็คือ อยากให้เห็นด้วยกับการยื้อ ถ่วง หน่วงเวลา

ยิ่งหากย้อนไปคำนึงถึงความต้องการอันเคยแสดงผ่านการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2558 ยิ่งทำให้มองเห็นความต้องการอย่างแท้จริงได้อย่างทะลุปรุใส

นั่นก็คือ “อยากอยู่ยาว” อันมาจาก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน