เหมือนกับการทอดเวลา “ปลดล็อก” พรรคการเมืองทำกิจกรรมจะเป็นผลดีต่อคสช. จะเป็นผลดีต่อพรรคการเมืองในเครือข่ายของคสช.

เพราะเท่ากับพรรคการเมือง “เดิม” ถูกมัดตราสัง

เพราะเท่ากับพรรคในเครือข่ายของคสช. ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคพลังชาติไทย ไม่ว่าพรรคทางเลือกใหม่ เคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น เป็นจังหวะก้าว

แต่พรรคเพื่อไทยยังขยับไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์ยังถูกตรึง

จึงเป็นอันเชื่อได้เลยว่า ในการหารือระหว่างกกต.กับพรรคการเมืองเดิม 50 กว่าพรรคประเด็นนี้จะกลายเป็นหัวข้อใหญ่

และจะกลายเป็น “เผือกร้อน” ในมือของ “กกต.”

ต้องยอมรับว่า นับแต่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปรากฏเป็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 4/2561 ปลด นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ก็ตกเป็นเป้า

เพราะเท่ากับถูกมาตรา 44 สยบอย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อคนปากกล้าระดับ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ถูกเด็ดหัวเสียแล้ว ที่เหลืออีก 4 คนก็ย่อมหมดฤทธิ์สิ้นแรงไปด้วย

จำเป็นต้อง “ขอรับกระผม” สถานเดียว

แต่เมื่อต้องเผชิญกับบรรดาแกนนำพรรคการเมืองอันมากด้วยประสบการณ์และความจัดเจน กกต.ก็ย่อมอยู่ในจุดอันเท่ากับเป็น “หนังหน้าไฟ”

จะรับหน้าแทน “คสช.” ได้มากเพียงใด ไม่นานย่อมมีคำตอบ

บรรยากาศในการหารือร่วมในวันที่ 28 มีนาคมระหว่างกกต. กับพรรคการเมือง “เดิม” นั่นแหละจะเป็นเงาสะท้อนและชี้ทิศทางต่อไปในทางการเมือง

ในที่สุดแล้วก็จะแวดล้อมภายใน 2 ประเด็นใหญ่

ประเด็น 1 ย่อมสัมพันธ์กับกระบวนการรัฐประหาร ประเด็น 1 ซึ่งสดๆ ร้อนๆ มากกว่าย่อมสัมพันธ์กับบทบาทและความหมายของคสช.

คสช.จะวางบทบาทอย่างไรในการเลือกตั้ง

รัฐบาลอันเป็นผลผลิตของรัฐประหาร ผลผลิตของคสช.จะกำหนดบทบาทและวางตัวอย่างไรในระหว่างการขับเคลื่อนและเมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

และที่สุด “กกต.” จะยังเป็น “องค์กรอิสระ” หรือไม่

เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.เข้ามาและเป็นรัฐบาล ทั้งคสช.และรัฐบาลและเล่นบทเป็น “โจทก์” ในทางการเมืองอย่างเด่นชัด

แน่นอน พรรคการเมือง นักการเมืองย่อมเป็น “จำเลย”

แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผ่านเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2558 ผ่านเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2559 ผ่านเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2560 และจะผ่านเข้าสู่เดือนพฤษภาคม 2561

ก็ไม่แน่แล้วว่า “คสช.” จะยังสามารถเป็น “โจทก์” อยู่ได้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน