การแยกจากกันระหว่าง “กลุ่มวาดะห์” กับพรรคเพื่อไทย ให้ความรู้สึกที่ดีอย่างเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะออกมาจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี ไม่ว่าจะออกมาจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย

สัมผัสได้ในความเป็นมิตร

อาจเป็นเพราะบารมีของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีค่อนข้างสูง และสายสัมพันธ์ระหว่างร่วมกันตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน กระทั่งมาถึงพรรคเพื่อไทย มากด้วยความอบอุ่น

ที่สำคัญก็คือ มีลักษณะ “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข”

ผ่านทั้งสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ผ่านทั้งสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาด้วยกัน

เมื่อถึงคราจากก็ต้องมากด้วยความอาลัย

หากมองการดำรงอยู่ของ “กลุ่มวาดะห์” อย่างเข้าใจกับธรรมชาติและความเป็นจริงในทางการเมือง การแยกครั้งนี้ก็มิได้อยู่เหนือความคาดหมาย

ตั้งแต่ยุค นายเด่น โต๊ะมีนา มาแล้วก็เป็นเช่นนี้

ในตอนต้นๆ กลุ่มวาดะห์ อาจแยกกันอยู่หากไม่เป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคกิจสังคม หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย

เพิ่งจะมีระยะหลังที่ไปไหนไปด้วยกัน

เริ่มจากที่พรรคประชาธิปัตย์กระทั่ง นายเด่น โต๊ะมีนา ได้เป็นรัฐมนตรี ต่อมาก็ที่พรรคความหวังใหม่กระทั่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้เป็นประธานรัฐสภา

ยิ่งมาถึงยุคพรรคไทยรักไทยยิ่งเฟื่องฟู

เบื้องหน้าสถานการณ์ปัจจุบันที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บีบบังคับโดยปริยายให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่

พรรคใหญ่วางน้ำหนักไปยัง “ระบบเขต”

พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดเล็ก วางน้ำหนักไปยัง “ระบบเขต” บางจุด และหวังอานิสงส์จากระบบแบ่งสันปันส่วนผสมที่ “บัญชีรายชื่อ”

ความจริง เจตนารมณ์เดิมต้องการทุบทำลาย “พรรคการเมือง”

นั่นก็คือ ไม่ยอมให้มีพรรคขนาดใหญ่แบบที่พรรคไทยรักไทยเคยได้จากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่สามารถจัดการได้ผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ภาระหน้าที่นี้จึงตกอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เหมือนกับการที่พรรคการเมืองก้มหน้ารับต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะเท่ากับเป็นการยอมหมอบราบคาบแก้ว แต่หากดูจากกรณีของ “กลุ่มวาดะห์” จะเห็นว่าไม่ใช่

นี่คือ การกำหนด “ยุทธวิธี” อย่างรู้เท่าทัน

เมื่อไม่อาจดำรงสถานะพรรคใหญ่ได้ ก็พยายามจัดวางกำลังอย่างรอบด้านดำเนินกลยุทธ์ “แยกกันเดิน” อย่างคึกคัก เป้าหมายเพื่อให้ได้พันธมิตรทางการเมืองที่หลัก 250 เป็นสำคัญ

นี่คือการต่อสู้บนกฎกติกาอันเป็น “ภูมิทัศน์” ใหม่ทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน