วิเคราะห์การเมือง

ท่าทีของ “สังคม” พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอเวลา 5 ปีจะสามารถแก้ปัญหาข้าวและชาวนาได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ หากพิจารณจาก “สื่อ” น่าสนใจ น่าศึกษา

บางส่วนนำเสนอเรื่องนี้เหมือนกับเป็น “ปกติ”

ปกติเพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะกล่าวในลักษณะเช่นนี้เสมอ เพราะว่าการเข้ามาแก้ปัญหาของคสช.มิได้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

คำที่ยกขึ้นมาเอ่ยอ้างอยู่เสมอ คือ “ครบวงจร”

อย่างน้อยการแสดงออกผ่านการวางยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้า 20 ปี ก็บ่งบอกถึงเจตจำนงว่าคสช.ต้องการอะไร

คำว่าขอเวลาอีก 5 ปี จึงมิได้เป็นเรื่องแปลก

แม้เสียงเพลงหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่กระหึ่มคือเสียงเพลงว่าด้วย “ขอเวลาอีกไม่นาน” แต่หากประเมินผ่าน “โรดแม็ป” ที่การเลือกตั้งจะมีในปลายปี 2560 ก็นานกว่า 3 ปีแน่นอน

เวลาที่ขอในการแก้ปัญหาชาวนาอีก 5 ปีจึงเป็นเรื่องปกติ

กระนั้น ภายในความรู้สึกปกติของสื่อ แต่ก็เริ่มปรากฏความรู้สึกผ่านโซเชี่ยล มีเดีย หนาหูมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า

แม้ต้องการจะอยู่ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะอยู่ได้

คำว่า “ไม่แน่” นี้ประเมินจากพื้นฐานแห่งความคิดและความเชื่อตามกฎแห่ง “อนิจจัง” ไม่เที่ยงแท้แห่งพุทธธรรมเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน ก็คำนึงถึงบรรยากาศหลัง “การเลือกตั้ง”

แม้กฎกติกาอันคสช.วางเอาไว้ผ่าน “รัฐธรรมนูญ” จะประกันในเรื่อง “อำนาจ” เอาไว้ค่อนข้างแข็งแกร่งและมั่นคง แต่เรื่องของการเมือง เรื่องของการเลือกตั้ง เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้วก็ยากอย่างยิ่งที่จะควบคุมและบังคับ

การสั่งประชาชนให้ซ้ายหัน ขวาหัน อาจกลายเป็น “ปัญหา”

ภายในกระบวนการเลือกตั้งนั้นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด คือ ปัจจัยจาก “ประชาชน” เนื่องจากในที่สุดแล้วทุกคนล้วนเสมอภาคกัน ณ คูหาเลือกตั้ง

นั่นก็คือ 1 คนมี 1 เสียง

ยิ่งกว่านั้น พลันที่เข้าสู่กระบวนการของการเลือกตั้งนั่นหมายความว่าบรรยากาศแห่งการหาเสียงอย่างเสรี เท่าเทียมกันจะต้องปรากฏขึ้น

จะใช้ “มาตรการ” แบบที่เคยทำในห้วง “ประชามติ” คงไม่ได้

ในการหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์อาจจะยืนเคียงข้างกับคสช. อาจจะยืนเคียงข้างกับการรัฐประหาร แต่จะให้พรรคเพื่อไทยร้องเพลงเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์คงยาก

เรื่อง “รัฐประหาร” นี่แหละจะมากด้วย “ความร้อนแรง”

เวลาจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คือ “เส้นแบ่ง” สำคัญ

พรรคการเมืองจำเป็นต้องแสดงท่าทีต่อ “รัฐประหาร” นักการเมืองจำเป็นต้องประเมินผลสำเร็จและความล้มเหลวของ “รัฐประหาร” ว่าเป็นอย่างไร ดีหรือว่าไม่ดี

ตรงนี้แหละที่ “คสช.” จะเป็นเป้า ตรงนี้แหละที่จะนำไปสู่ความไม่แน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน