การตอบโต้จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปยัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่า “แรง” ในระดับที่เรียกว่า “แรงส์” เป็นอย่างสูงในทางการเมือง

แสดงว่า “ประเด็น” ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีความอ่อนไหว

นั่นก็คือ ประเด็นอันเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” และภายในประเด็นนี้ก็มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ่วงติดไปด้วย

ทั้งๆ ที่ความจริงคำพูดนี้มิได้ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากแต่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเป็นต้องพูดและเน้นอย่างหนักแน่นเพราะเป็นประเด็นซึ่งเคยมีการถกเถียงกันอยู่ภายในพรรคประชาธิปัตย์

หากไม่พูดให้ชัดก็จะเกิดความเสียหาย

ต้องยอมรับว่าการหวนกลับพรรคประชาธิปัตย์ของบรรดา “แกนนำ” คนสำคัญของกปปส.หลายคนก่อให้เกิดการถกเถียงภายใน

เนื่องจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงความแจ่มชัด

แจ่มชัดว่าอ้าแขนต้อนรับนายกรัฐมนตรี “คนนอก” อย่างเต็มเปี่ยม และนายกรัฐมนตรีคนนอกรายนั้นเป็นใครไปไม่ได้ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

ก่อให้เกิดคำถามภายในพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะเอาอย่างไร

เพราะบรรดาแกนนำสำคัญอย่าง นายถาวร เสนเนียม อย่าง นายวิทยา แก้วภราดัย อย่าง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ล้วนเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

คำถามก็คือจะเอา “หัวหน้าพรรค” ไปไว้ไหน

จากเดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนเมษายน 2561 เป็นเวลาเกือบ 4 ปีภายในคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จึงมีความแจ่มชัด

แจ่มชัดอย่างที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศ

นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคของตนให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เอานายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ใครสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องไปที่อื่น ไม่ใช่ที่นี่

ด้านหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ต้องการปรามบรรดาอดีตส.ส.ที่เคยเป็นแกนนำกปปส. ด้านหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องการแยกจำแนกระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

น่าสนใจก็ตรงที่กระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะมองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมองจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คำประกาศเช่นนี้ย่อมเป็น “ปฏิญญา” ของพรรคประชาธิปัตย์

เป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิบัติ

ขณะเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่มวลชนซึ่งเป็นฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์จะต้องนำไปขบคิดพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

เท่ากับเป็นแนวทางหาเสียง 1 ของพรรคประชาธิปัตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน