เหมือนกับการก่อรูปขึ้นของ “พรรคคสช.” จะสะท้อนนวัตกรรมใหม่ในทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ เมื่อค่อยๆ แผ่แบออกมาก็แทบไม่มีอะไรใหม่

ทั้งๆ ที่เป็นยุคแห่ง Start Up ทะยานไปสู่ Thailand 4.0

แต่เมื่อสดับจากการออกมายอมรับของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประสานเข้ากับการออกมายอมรับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ “ใหม่”

ยิ่งเห็นลีลาการดูด นายสกลธี ภัททิยกุล ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. ยิ่งมิได้เป็นเรื่องแปลกหรือพิสดาร

ยังติดอยู่กับแผน “บันได 4 ขั้น” ของ “คมช.”

ที่ใครต่อใครออกมาสาธยายว่าไทยแลนด์ 4.0 คือเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปตามคำขวัญอัน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยประกาศก้องบนเวทีกปปส.

เมื่อมองลงไปในรายละเอียดก็ต้องระบุว่า “ไม่ใช่”

การเคลื่อนไหวไม่ว่าจะมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมาจากพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะมาจากบางส่วนอันมีบทบาทในพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ก็จะหวนนึกถึงสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550

ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์มาแล้ว ตอนนี้พรรคมัชฌิมาธิปไตยมาแล้ว จะขาดแต่เพียงพรรคเพื่อแผ่นดินเท่านั้นเอง

แต่บางส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดินก็นั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล มิใช่หรือ

เหมือนกับแผน “บันได 4 ขั้น” ของคมช.จะเป็นการพัฒนาไปจากการเกิดขึ้นของพรรคสามัคคีธรรม ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

เช่นเดียวกับความพยายามผ่าน “พรรคคสช.”

แต่ถ้าแกะรอยไปบนเส้นทางระหว่าง “ครม.สัญจร” ไม่ว่าจะเป็นที่สุพรรณบุรี ไม่ว่าจะเป็นที่นครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นที่สุโขทัย

มิได้แตกต่างเลยแม้แต่นิดเดียว

ยิ่งเมื่อมีการดูดเอา นายสกลธี ภัททิยกุล เข้ามาร่วมส่วนในพิมพ์เขียวใหญ่ทางการเมือง ยิ่งทำให้ใบหน้าของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ลอยเด่น

จะขาดก็แต่เพียง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เท่านั้นเอง

การเมืองยังเสมอเป็นเพียง 2 ก๊ก ยังไม่ได้เติบใหญ่ ขยายตัวไปเป็นแบบ 3 ก๊กอย่างที่มีเกจิการเมืองหลายคนพยายามแจกแจง

มี 2 เท่านั้น ไม่เคยมี 3

นั่นก็คือ จะเอาด้วยกับคสช.หรือไม่ จะเอาด้วยกับทหารหรือไม่ กับ จะไม่เอาด้วยกับคสช.หรือไม่ จะไม่เอาด้วยกับทหารหรือไม่

ลองหยิบแต่ละพรรคแต่ละกลุ่มมาพิจารณาดูก็จะเห็น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน