กรณีที่คสช. “ดูด” เอา นายสกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.กำลังเป็นสินค้า “ตัวอย่าง” เล็กๆ ในตลาดทางการเมือง

สร้างความหงุดหงิดกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะมาจาก นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค

แต่ก็เป็นความหงุดหงิดที่พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับได้

เห็นได้จากความเห็นของ นายจุติ ไกรฤกษ์ “ใครก็อยากทำงานเพื่อประเทศ ก็ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ สร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมที่มีความสุข”

เป็นท่วงทำนองในเชิงอวยชัย และให้พร

ทั้งๆ ที่รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า กรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล “ได้มาพบผมและเล่าให้ฟังว่าได้รับการทาบทามจากคสช.และกทม.ให้ไปทำงาน”

ยิ่งกว่านั้น ยังประเมินด้วยว่า

“การที่ลาออกนี้เพื่อจะได้ให้ทำงานอยู่ตรงนั้นมีความเป็นกลาง ส่วนต่อไปวันข้างหน้าเขาจะไปอยู่กับพรรคไหนก็เป็นสิทธิ์ของเขา”

เป็นความหงุดหงิดแน่นอน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับ

สะท้อนไม่เพียงแต่มีความเข้าใจในกระบวนการทาบทามครั้งนี้ว่า 1 มาจากคสช.อย่างแน่นอน แต่ 1 พลังที่อยู่ภายในคสช.เป็นที่เกรงใจภายในพรรคประชาธิปัตย์

จึงไม่มีความเกรี้ยวกราด จึงมีแต่เสียงอวยชัย ให้พร

เหมือนกับว่าพลังดูด นายสกลธี ภัททิยกุล จะมาจากบุคคลระดับ “รองนายกรัฐมนตรี” ไม่ว่าที่เป็นทหาร ไม่ว่าที่เป็นพลเรือน

นั่นก็สามารถประเมินและคาดหมายได้

เพราะการเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลของ นายสกลธี ภัททิยกุล พร้อมเพื่อนๆ ก็เด่นชัดว่าเป็นรองนายกรัฐมนตรีท่านใด

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งก็เป็นเพื่อนกับ “บิดา”

ยิ่งกว่านั้น หากคำนึงถึงความเป็นจริงที่ นายสกลธี ภัททิยกุล เป็นแกนนำกปปส.ระดับมือปฏิบัติการ ก็ยิ่งมองเห็นความหมายในการมาอยู่ในกทม.

กทม.จึงเป็นศูนย์บัญชาการ 1 นอกจากทำเนียบรัฐบาล

ยิ่งมีความจำเป็นต้องตระเตรียมพรรคการเมืองเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจมากเพียงใด การเคลื่อนไหวจะเริ่มเปิดหน้าออกมาให้ได้สัมผัสมากยิ่งขึ้น

เมื่อสามารถ “ยื้อ” การเลือกตั้งออกไปได้เรื่อยๆ

ความเกรงใจย่อมเหลือน้อยลงเป็นลำดับ ไม่ว่าปฏิบัติเตะถ่วง หน่วง ไม่ว่าการกวาดต้อนและดูดดึงแต่ละพลังการเมืองเข้ามาเป็นฐานรองรับอำนาจ

เหล่านี้ล้วนอยู่ในสายตาของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน