วิเคราะห์การเมือง

มีความรู้สึกหรือไม่ว่าท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนเมษายนนี้มีความเข้มต่อคสช. และต่อรัฐบาลอย่างเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะในเรื่องนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ไม่ว่าจะในเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ ทางการเมือง ตำรวจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจาะลงไปในประเด็นทาง “เศรษฐกิจ” อย่างชนิดเน้นๆ

เน้นกระทั่งจำนวนเงิน “1 ล้านล้าน”

เหมือนกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องการเน้นบทบาทใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในบรรยากาศแห่งการเกิดขึ้นของภูมิทัศน์การเมืองใหม่โดย “พรรคอนาคตใหม่”

อาจใช่ แต่ก็มี “อะไร” ซับซ้อนยิ่งกว่า

ความซับซ้อนในลักษณะเฉพาะหน้าเป็นผลมาจากปฏิบัติการในการใช้ “พลังดูด” จากทำเนียบรัฐบาล ทะลวงลึกไปภายในพรรคประชาธิปัตย์

ยกตัวอย่างเลยก็ได้ คือ นายสกลธี ภัททิยกุล

ต้องระบุว่ากรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล เป็นเรื่องเฉพาะหน้าอย่างชนิดที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ต้องตื่นตะลึง

เพราะเพิ่งยืนยันการเป็นสมาชิกภาพอยู่หยกๆ

แต่แล้ว นายสกลธี ภัททิยกุล และพวก ก็ตบเท้ากันเข้าทำเนียบรัฐบาล แล้วก็ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ประสานเข้าคำสั่งกทม.ในอีกไม่กี่วันต่อมา

ทั้งๆ ที่การเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้

การสนทนาระยะสั้นๆ ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นายสกลธี ภัททิยกุล ทำให้รายละเอียดต่างๆ อันก่อให้เกิดความจำเป็นในการต้องลาออกเผยแสดงออกมา

นั่นก็คือ ได้รับการเชื้อเชิญจากผู้ใหญ่ใน “คสช.”

ความหมายจึงมิได้อยู่ที่ตำแหน่ง “รองผู้ว่าฯ กทม.” หากมีมากกว่านั้น อันนำไปสู่การก่อรูปขึ้นของสิ่งที่เรียกกันว่า “พรรคคสช.”

เป็นใครใน “ทำเนียบรัฐบาล” มิได้เป็น “ความลับ”

การเจาะจง นายสกลธี ภัททิยกุล ซึ่งเป็นแกนนำเอาการเอางานยิ่งภายในกระบวนการ “กปปส.” ย่อมเผยความนัยตรงไปตรงมา ไม่ปิดบังอำพราง

เมื่อเล่นมาตรงๆ ก็สวนกลับไปตรงๆ

นับจากนี้เป็นต้นไปบทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บทบาทของขุนพลนักพูดแห่งพรรคประชา ธิปัตย์จะยิ่งเข้มข้นเป็นลำดับ

นี่คือ ทิศทางใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์

แม้จะยังพยายามชูธง 2 ผืน ทั้งผืนที่กระหน่ำเข้าใส่พรรคเพื่อไทย ทั้งผืนที่ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

แต่ในที่สุดประการหลังจะยิ่งหนักหน่วง เข้มข้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน