หากการดึง นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หากการดึง นายวิทยา คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยประจำรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเรื่องดี

เพราะทุกฝ่ายล้วนอ้างว่าเป็นการทำ “เพื่อชาติ”

แล้วทำไมพอถามลึกลงไปอีกว่า กระบวนการอย่างนี้คือส่วนหนึ่งของการเชื่อมและสร้างพันธมิตรทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การต่อท่อแห่ง “อำนาจ”

กลับได้รับการปฏิเสธ

ไม่เพียงแต่ปฏิเสธโดยเจ้าตัวเองอย่างกำๆ กวมๆ หากแต่บางคนที่เล่นบทเป็น “โฆษก” ยังออกโรงมาตอกย้ำอีกว่านี่มิได้เป็นเรื่องทาง “การเมือง” หากเป็นเรื่องของประเทศชาติและบ้านเมือง

ราวกับว่าเรื่องของ “พรรคการเมือง” มีแต่ความเลวร้าย

คำปฏิเสธในกระสวนอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อาจกระทำเพราะความจำเป็น

เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการตีไข่ใส่สีต่อ “การเมือง” ค่อนข้างรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นคำปราศรัยของ “พันธมิตร” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นคำปราศรัยของ “กปปส.” ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

การทำ “แนวร่วม” กับ “นักการเมือง” จึงเหมือนกับ “เลวทราม” ต่ำช้า

แต่ถามว่าคนใน “ทำเนียบรัฐบาล” หลายคนเคยเป็น “นักการเมือง” หรือเปล่า คนอย่าง นายสนธยา คุณปลื้ม เป็น “นักการเมือง” หรือเปล่า

ก็เห็นชัดว่าเป็น “นักการเมือง” แน่นอน

จากนี้จึงเห็นได้ว่าบรรดาคนที่มีตำแหน่งในทางการเมืองจะพูดจา โอ่อ่า อลังการอย่างไรก็ได้ แต่ในที่สุดแล้ว การกระทำต่างหากที่มีผลชี้ขาด

1 ชี้ขาดว่าเขาเป็นคนอย่างไร

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ ชี้ขาดว่า “คำพูด” กับ “การกระทำ” ของเขามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่

หรือจะเข้าลักษณะ “ดีแต่พูด”

ทุกครั้งที่อ้าปากพูด แต่ละถ้อยคำล้วนหะรูหะราอย่างยิ่ง แต่เมื่อลงมือปฏิบัติ กลับดำเนินไปอย่างชนิดตรงกันข้ามกับคำพูดอย่างสิ้นเชิง

เข้าทำนองคนประเภท “ปากอย่าง ใจอย่าง”

จากกรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล เมื่อต่อเนื่องมายังกรณี นายสนธยา คุณปลื้ม นายอิทธิพล คุณปลื้ม จึงเท่ากับเป็นมาตรวัดอย่างดีในทางการเมือง

ไม่ใช่มาตรวัดอย่างธรรมดา หากแต่เที่ยงตรง

ถึงจะตั้งขบวนออกมาปฏิเสธความไม่เกี่ยวข้อง ไม่สัมพันธ์ อย่างไร แต่กระบวนการในการปฏิบัติที่เป็นจริงนั่นแหละจะเป็นคำตอบ

คำตอบ ณ เบื้องหน้า ประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน