คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มมวลชนฝ่ายผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ยื่นเรื่องเรียกร้องให้ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้พิจารณาคดีสลายม็อบอีกครั้ง หลังจากที่มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลยไปเมื่อไม่นานมานี้

ถือเป็นการเรียกร้องให้มีการใช้สิทธิตามช่องทางกฎหมาย

ทั้งเป็นการแสดงจุดยืนในฐานะกลุ่มมวลชน ที่ต้องการให้มีผู้รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าเห็นใจในแง่มนุษยธรรม

ในขณะเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ก็แสดงท่าทีจะไปยื่นร้องต่อป.ป.ช. ในคดีสลายม็อบ 10 เมษายน -19 พฤษภาคม 2553 เช่นเดียวกัน

เพื่อขอความเป็นธรรมในด้านกฎหมาย

ขอโอกาสให้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรม แบบคดี 7 ตุลาฯบ้าง!

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์พฤษภาคม 53

หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 99 ศพนั้น รุนแรงกว่ามาก

คิดดูแล้วตายไปถึง 99 ศพ แต่คดีกลับเงียบหายเป็นไปได้อย่างไร!?

ไม่เท่านั้น เทียบกับคดี 7 ตุลาคม 2551 ที่มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ในแง่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ถือว่าต่างกันอย่างลิบลับ

คดี 7 ตุลาฯ 51 นั้น รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ใช้ตำรวจปราบจลาจลตามหลักสากล

เหตุข้อพิพาทที่กล่าวหารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มาจากการใช้แก๊สน้ำตา!

ขณะที่พฤษภาคม 53 รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ จัดตั้งศอฉ.ขึ้นมา เพื่อใช้กฎหมายพิเศษเข้าควบคุมสถานการณ์

จากนั้นใช้เหตุผลที่ว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม

จึงใช้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยรบเข้ากระชับพื้นที่ อนุญาตให้ใช้กระสุนจริงได้ อ้างว่าเพื่อป้องกันตัว

แต่ลงเอยมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตร่วมร้อยราย โดยไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่มีอาวุธในมือ ไม่มีแม้แต่ศพเดียวที่เป็นผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ

ประเด็นที่ชี้ความแตกต่างกันมากระหว่างยุครัฐบาลสมชายกับยุครัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ ในการสลายม็อบ

คือ 7 ตุลาฯ 51 ใช้ตำรวจปราบจลาจล ไม่มีอาวุธจริง มีแต่แก๊สน้ำตา

แต่พฤษภาคม 53 ใช้ทหารหน่วยรบ กระสุนจริง อ้างว่าเพื่อป้องกันตัวจากผู้ก่อการร้าย

7 ตุลาฯ เสียชีวิต 2 ราย ใช้แก๊สน้ำตา เป็นคดีความจริงจังและรวดเร็ว

อีกคดี 99 ศพ ใช้กระสุนจริง เงียบสนิท!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน