“วงค์ ตาวัน”

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำท่วม มักจะมีภาพขยะเป็นตัวปัญหาสำคัญ ไปอุดตันในท่อระบายน้ำจำนวนมาก เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ทำให้ระบายช้า ก็เลยทำให้ท้องถนนและบ้านเรือนผู้คนจมน้ำไปตามๆ กัน อย่างเช่น เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกทม. เมื่อเช้าวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา

มีคลิปเห็นน้ำทะลักออกมาจากท่อ พร้อมกองขยะมหึมา ดูแล้วน่าตกใจเป็นอันมาก

มีเรื่องขยะกับท่อระบายน้ำขึ้นมาเมื่อไร ก็มักนำมาซึ่งเสียงเรียกร้องจิตสำนึกของประชาชน

ถ้ายังคงมักง่าย ทิ้งสิ่งของไม่เป็นที่เป็นทาง โยนก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ไปตามริมถนน สุดท้ายก็จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง

นั่นเป็นเรื่องจริง แต่ต้องพูดถึงตัวการปัญหากันให้ครบทุกด้าน

ไม่ใช่โยนปัญหาไปอยู่ที่การทิ้งขยะของชาวบ้านว่าเป็นตัวการทั้งหมด!!

เพราะจะเอาแค่เรื่องกองขยะมาขยายใหญ่ จนบดบังความบกพร่องในประสิทธิภาพของรัฐบาล ย่อมไม่ได้

ขยะก็เป็นปัญหาหนึ่ง การรณรงค์จิตสำนึกของสมาชิกในสังคมก็จำเป็น

แต่ขณะเดียวกัน ในเรื่องขยะนี่แหละ ต้องถามว่ารัฐเองมีมาตรการจัดการเรื่องการจัดเก็บ

หรืออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านไม่ทิ้งมั่วซั่วได้ดีพอหรือไม่!?

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบบริหารจัดการน้ำทั่วทั้งประเทศ ต้องนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ควรจะต้องพูดถึงหรือดำเนินการ

เพื่อแก้อุทกภัยร้ายแรงอย่างจริงจัง

เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันค้างเติ่งมาตั้งแต่หลังมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 แล้ว!

การจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ จำเป็นต้องดำเนินการเสียที

แต่แน่นอนว่า เป็นเรื่องใหญ่ และต้องทำให้รอบคอบรอบด้าน เช่น ต้องไม่เน้นแต่การใช้สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เข้ามาจัดการทั่วทั้งหมด

เพราะหลักธรรมชาติ ซึ่งคนในท้องถิ่นรู้ดีที่สุด ควรนำความรู้ชาวบ้านมาผสมผสานด้วย

การทำแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ให้เก็บกักน้ำได้ดีกว่าเดิม หรือเป็นทางเดินน้ำที่คล่องกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องไปดัดแปลงธรรมชาติมากเกินไป เหล่านี้ทำได้ทันที

แต่ในบางส่วนที่ต้องลงทุนด้วยเทคโนโลยีสิ่งปลูกสร้าง ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ

เหล่านี้ต้องพูดกันจริงจัง

จะว่าไปแล้ว หลายปัญหาในบ้านเมือง เช่น คนตายมากมายในเทศกาลหยุดยาว มาจนถึงวิกฤตน้ำท่วมร้ายแรง

รัฐต้องคิดมาตรการแก้ไขอย่างเป็นระบบเสียก่อน ไม่ใช่มาบังคับชาวบ้านที่ปลายเหตุ หรือโทษแต่ชาวบ้านไม่มีจิตสำนึกอย่างเดียว

แต่ทั้งหมดนี้ คงต้องมีรัฐบาลปกติที่บริหารประเทศตามปกติโดยเร็วที่สุด!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน