“วงค์ ตาวัน”

กรณีนายมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ “แบมุส” แกนนำกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งทำให้ภรรยาของแบมุส และอาจารย์ ม.อ.ปัตตานี ต้องออกมาแสดงความผิดหวังกับวิธีการออกข่าวของรัฐบาล อันเป็นอีกกรณีที่เพิ่มความร้อนระอุให้กับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคสช.กับมวลชนในภาคใต้

คล้ายกับราดน้ำมันใส่กองเพลิง

โดยรัฐบาลได้โต้ข่าว กรณี “แบมุส” หายตัวไป ด้วยการยืนยันว่า ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปแน่นอน

แต่แถมท้ายด้วยข้อมูลทำนองว่า “อาจจะเหมือนที่สะบ้าย้อย ที่ตอนแรกคิดว่าถูกจับตัวไป แต่ปรากฏว่าหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวที่สตูล”

นี่แหละที่เป็นเรื่อง!

ทำเอาภรรยาของแบมุสต้องออกมาเตือนสติว่า ในฐานะผู้มีอำนาจ ผู้นำ หรือผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารกับประชาชน ควรสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับประชาชน และควรมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้

อีกทั้งที่พูดออกมานั้น “มันได้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของท่านให้ต่ำลงไปอย่างไร้ราคา”

ทั้งหลายทั้งปวง เป็นการเรียกร้องให้ผู้ทำหน้าที่ด้านข่าวสารของฝ่ายรัฐ ได้ไปทบทวนตัวเองเสียใหม่ โดยให้ถือกรณีนี้เป็นบทเรียน

แต่ในขณะเดียวกัน เห็นวิธีการออกข่าวเรื่องแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้แล้ว

ต้องนึกถึงท่วงทำนองเดียวกันนี้ กับเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559

เมื่อมีกรณีชายชาวตำบลวังสำโรง อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ผูกคอตายใต้ต้นไม้กลางทุ่งนา จนกลายเป็นข่าวใหญ่

เพราะภรรยาบอกกับนักข่าวว่า ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา และสามีกลุ้มใจที่ราคาข้าวตกเหลือเกวียนและ 5,000-6,000 บาท

จึงฆ่าตัวเพราะเครียดเรื่องหนี้สินเงินกู้สหกรณ์

แต่ฝ่ายรัฐได้ออกข่าวโต้แย้งว่า ชายผู้นี้ไม่ใช่ชาวนา

ระบุว่า เป็นช่างแอร์ เครียดเรื่องหนี้สินส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับปัญหาราคาข้าว!?!

หลังจากนั้นได้มีคนในพื้นที่ ผู้นำชุมนุม ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า เป็นชาวนาแน่ๆ อาชีพช่างแอร์นั้นเคยทำ แต่ไม่ใช่อาชีพหลัก

เหตุการณ์นี้จบลงไปเงียบๆ โดยคนส่วนใหญ่ย่อมสรุปได้ว่า สาเหตุของการผูกคอตายนั้นมาจากอะไร

ราคาแอร์ตกต่ำ หรือราคาข้าวตกต่ำกันแน่

จากช่างแอร์ มาจนถึงการหนีไปเที่ยวกับผู้หญิง ที่ไม่ใช่ครอบครัว

กระบวนการตอบโต้ข่าวสาร ยังไม่เปลี่ยนแปลง!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน