เพิ่มต้นไม้ให้วัดเขาย้อย-เพชรบุรี

ข่าวสดจัดปลูกสัก-ตะเคียน ครั้งที่ 12

เพิ่มต้นไม้ให้วัดเขาย้อย-เพชรบุรี ข่าวสดจัดปลูกสัก-ตะเคียน ครั้งที่ 12 – วัดเขาย้อย ต.เขาย้อย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เป็นวัดแห่งที่ 12 ที่ทีมงานข่าวสด และเครือมติชน จัดโครงการปลูกไม้สักและไม้ตะเคียน ยางนา และไม้หายากมาอย่างต่อเนื่อง

อ.ขรรค์ชัยทักทายนักเรียน

ร่วมด้วยคนในพื้นที่อย่าง ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คุณแม่บุปผา อังกินันทน์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเพชรบุรี นอกจากมอบปัจจัยร่วมทำบุญแล้ว ยังนำอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่มาร่วมกันปลูกต้นไม้

พร้อมด้วย นายชาตรี วชิระเผด็จศึก ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรที่สิบสาขาเพชรบุรี นายนิพล ไชยสาลี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจรักการปลูกป่า นำทีมโดย พล.ต.ต.เทียนชัย คามะปะโส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี และ พ.ต.ท.สืบศักดิ์ ผันสืบ สารวัตรท่องเที่ยว 1 กองบังคับการ 1 กองบังคับการตำรวจ ท่องเที่ยว 3 มาสนับสนุน

มอบทุนการศึกษา

ส่วนผู้มาเยือนจากรุงเทพฯ มีพนักงานเครือข่าวสด-มติชน นำโดย นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการ

ขาดไม่ได้สำหรับโครงการปลูกสัก-ตะเคียนของข่าวสด เมื่อมีวัด ชุมชนแล้วต้องมีโรงเรียนด้วย

ดร.วิไลลักษณ์ เพชรเอี่ยม รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเขาย้อยไพบูลย์อุปถัมภ์ (แสงส่องหล้า 5) และเหล่าคุณครู พานักเรียนตัวน้อยมาสมทบ และรับมอบทุนการศึกษาจาก

มอบเงินถวายวัด

มูลนิธิดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และมูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ จำนวน 20,000 บาท และบวกกับอีก 10,000 บาท จากพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผบ.ตร. ที่สนับสนุนโครงการของข่าวสดมาโดยตลอด อีกทั้งพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติและดร.ยุทธพลยังร่วมมอบเงินบำรุงวัดกับข่าวสด รวมทั้งสิ้น 60,000 บาท


รดน้ำให้ชุ่มฉ่ำ

ก่อนปลูก น.ส.ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์ บรรณาธิการบริหารข่าวสด กล่าวถึงที่มาของโครงการ ว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งฝากฝังนายขรรค์ชัย ประธานเครือมติชน ไว้ก่อนล่วงลับว่า ให้จัดโครงการปลูกไม้สัก ไม้ตะเคียน เพื่อให้วัด โรงเรียน ชุมชน มีไม้คุณภาพดีไว้ทำนุบำรุงแหล่งโบราณสถาน รวมถึงเพื่อใช้ในการซ่อมแซมวัดวาอาราม โรงเรียน อาคารสาธารณประโยชน์ของชุมชุน ที่สำคัญคือเน้นความร่วมมือกันระหว่าง วัด โรงเรียน เเละชุมชน

ครั้งแรก จัดที่วัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ครั้งที่ 2 วัดพระบรมธาตุวรวิหาร อ.เมือง จ.ชัยนาท

ครั้งที่ 3 วัดวิเวกวายุพัด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้งที่ 4 วัดทองสะอาด อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

ครั้งที่ 5 วัดธรรมปัญญา ต.พรหมณี อ.เมือง จ.นครนายก

ครั้งที่ 6 วัดมกุฏคีรีวัน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ครั้งที่ 7 วัดใหม่อยู่สงัด หมู่ 9 ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ครั้งที่ 8 สถานปฏิบัติธรรมใหม่สันติสุข จ.นครปฐม

ครั้งที่ 9 สถานปฏิบัติธรรมวัดหนองขุนชาติ ต.หนองสรวง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี

ครั้งที่ 10 ที่วัดโตนด (บางนางร้า) อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

ครั้งที่ 11 วัดบ้านถ้ำ ต.เขาน้อย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

มือปลูกรุ่นเยาว์

ส่วนครั้งที่ 12 ที่วัดเขาย้อย อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ต้นไม้ที่ปลูก ประกอบด้วย ต้นสัก ต้นตะเคียน ต้นยางนา และไม้หายากกว่า 500 ต้น ที่ได้รับอนุเคราะห์กล้าไม้จากกรมป่าไม้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ร่วมใจกันปลูกต้นไม้บริเวณลานด้านหลังวัด ไม่นานก็สำเร็จเสร็จสิ้น

จากนั้นคณะปลูกต้นไม้จึงย้ายไปถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ในโบสถ์ที่สวยงามของวัด

พระมหานิธิกาญจน์ นิธิวํโส เจ้าอาวาสวัดเขาย้อย ให้ข้อมูลว่า โบสถ์นี้สร้างแทนโบสถ์เก่าสมัยรัชกาลที่ 3 โดย เจ้าอาวาส รูปก่อน พระครูไพบูลพัฒนโสภณ (สุด นงนุช) ใช้เงินจากการบริจาคสมทบทุนของ ผู้มีจิตศรัทธา 25 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปีจึง แล้วเสร็จ

ความงดงามของไม้แกะสลักที่พระครูไพบูลพัฒนโสภณซื้อไม้สักทองมาจากภาคเหนือ คือการแกะสลักเรื่องราวเป็นพุทธชาติชาดก โดยช่างฝีมือของเพชรบุรี ที่ปกติมีชื่อเสียงเรื่องการแกะปูนปั้น ไม่ว่า ช่างตระกูลบุญประเสริฐ ตระกูลเอมโอษฐ

พระประธานมีดวงเนตรที่ทำจากแร่ สะท้อนภาพผู้ที่จ้องมองอยู่ เสมือนพระพุทธรูปมองเห็นศาสนิกชน

ฉัตรไม้เหนือพระประธานฉลุลายทั้งฉัตร เป็นฝีมือการออกแบบของ ช่างธานินทร์ ชื่นใจ แห่งเมืองเพชรบุรีเช่นกัน

ความพิเศษอีกด้านของโบสถ์แห่งนี้ คือที่ฐานอุโบสถ เป็นประติมากรรมปูนปั้นนูนต่ำโดยรอบจำนวนรวม 35 ภาพ เป็นรูปการละเล่นและประเพณีของไทย นอกจากสวยงามแล้ว ยังมีอักษรเบรลให้สำหรับผู้พิการทางสายตาด้วย

ดังนั้นวัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่มีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมและสักการะ รวมถึงแจกอาหารให้ลิงที่ลงมาจากบนเขา

สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับทางวัดครั้งนี้ เจ้าอาวาสวัดเขาย้อย กล่าวว่า มีความสำคัญทั้งเป็นประโยชน์อย่างมาก ทั้งต่อ วัด โรงเรียน และชุมชน

นอกจากช่วยพัฒนาพื้นที่บริเวณวัด จากเดิมที่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า กลับมีชีวิตที่เติมแต่งให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นสีเขียว ทั้งให้ร่มเงาเป็นพื้นที่ร่มรื่นเมื่อยามที่ต้นไม้เหล่านี้เติบใหญ่ และยังเป็นแหล่งโอโซนที่สำคัญ

อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ดีที่เป็นการปลูกฝังให้เด็กโรงเรียนวัดเขาย้อยทุกระดับชั้นได้ตระหนักและรู้จักปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ต่อวัดโรงเรียนและชุมชมต่อไปในอนาคต โดยจะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกันดูแลรักษา เพื่อให้ต้นไม้ทุกต้นเติบโตสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน