พระพิมลธรรม อาจ อาสโภ(ตอนแรก)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย น้าชาติประชาชื่น

พระพิมลธรรม อาจ อาสโภน้าชาติ รองนายกฯ วิษณุ กล่าวถึงกรณี นายสุวิทย์ พุทธะอิสระ จะกลับมาห่มจีวร โดยเทียบกับ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ที่โดนจับข้อหาคอมมิวนิสต์และกลับมาห่มผ้าไตรจีวร เล่าเรื่องพระพิมลธรรมหน่อยครับ

สรัสวดี

ตอบ สรัสวดี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) คือสมณศักดิ์สุดท้ายของพระเถระรูปสำคัญนี้ ซึ่งเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม (ก่อนจะถูกถอดออกจากสมณศักดิ์ เป็นพระมหาอาจ ในพ..2503) ต่อมาพ..2505 ได้ถูกทางการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงถูกบังคับสึกเป็นฆราวาส และจำคุกอยู่ที่กองบังคับ การตำรวจสันติบาลอยู่หลายปี จนกระทั่งศาลทหารสามารถพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความเท็จ และตัดสินยกฟ้องเมื่อพ..2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้คืนสู่สมณศักดิ์เดิมตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม พ..2518 คดีดังกล่าวนับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทย

พระพิมลธรรม

ท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และยังเป็นผู้นำการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐานสี่ (หรือแบบยุบหนอพองหนอ) จากพม่ามาเผยแพร่ในประเทศไทย

นามเดิม คำตา ดวงมาลา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2446 แรม 4 ค่ำ เดือน 12 ณ บ้านโต้น ต.บ้านโต้น อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายหลังเมื่อย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (เจ้าอาวาสขณะนั้น) ได้เปลี่ยนชื่อท่านจากคำตา เป็นอาจ เพื่อให้เหมาะกับบุคลิกองอาจแกล้วกล้าของท่าน

เมื่ออายุ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดศรีจันทร์ ขอนแก่น ต่อมาย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ จนอายุครบ 20 ปีจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุฯ โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสมโพธิ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า อาสโภ

พระพิมลธรรม

เกี่ยวกับการศึกษา ได้ศึกษาอักษรลาวตั้งแต่บวชเป็นเณรที่ขอนแก่น ต่อมาเป็นลำดับ ระหว่างพ..2461-2472 สอบได้วิชาครู เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขอนแก่นวิทยาคาร (ปัจจุบันคือโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน), สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, สอบได้นักธรรมชั้นโท, สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค, สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค, สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค, สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค (ได้รับพระราชทานพัดหน้านางพื้นแพรเหลืองล้วนปักดิ้นเลื่อม ในการตั้งเปรียญวันที่ 2 พฤษภาคม 2471, สอบได้นักธรรมชั้นเอก, สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค และสอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค

สมณศักดิ์ พ..2477 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระศรีสุธรรมมุนี, 2482 เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม, 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพเวที ตรีปิฎกคุณสุนทรธรรมภูษิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมไตรโลกาจารย์ ปรีชาญาณดิลก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี, 2492 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระพิมลธรรม มหันตคุณ วิบุลปรีชาญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการภูษิต ยติกิจสาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระพิมลธรรม

..2503 ถูกถอดจากสมณศักดิ์, 2518 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์กลับคืน กระทั่งปี 2528 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ สมถวิปัสสนาญาณปรีชา อรัญญิกมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) อาพาธ และได้ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจวาย เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2532 เวลา 11.15 . ณ โรงพยาบาลสยาม กรุงเทพมหานคร สิริอายุได้ 86 ปี 1 เดือน พรรษา 66 ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ตำหนักสมเด็จ วัดมหาธาตุ, เป็นเวลา 100 วัน ครบเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ..2533 โดยมีคณะเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายทุกคืนทุกวัน บางวันมีคณะเจ้าภาพหลายคณะร่วมบำเพ็ญกุศล และตลอดมาจนถึงวันที่ 14 เมษายน พ..2533 ทรงพระกรุณาโปรดออกเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

ฉบับพรุ่งนี้ (22 ..) อ่านเรื่องคดีความของท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน