วิถี‘นิวนอร์มัล’คลายล็อกเฟส5 – คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิด 3 คอนเซ็ปต์งานออกแบบที่เปลี่ยนไป เพื่อการอยู่ร่วมกันในยุคหลังโควิด-19

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่งานออกแบบจะยังคงมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมต่อไป

โดยเฉพาะในด้านการออกแบบที่เปลี่ยนไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยในยุคหลังโควิด-19 (Design disruption) โดย สจล.ได้เปิดตัว 3 แนวคิดดีไซน์ดิสรัปชั่น ประกอบด้วย

1.งานออกแบบเพื่อสุขอนามัยส่วนตัวในพื้นที่ส่วนรวม โดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การติดตั้งระบบฆ่าเชื้อด้วย UV-C หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ตามจุดต่างๆ การเลือกใช้วัสดุ ที่ลดความเสี่ยง การติดเชื้อ การออกแบบระบบกรองอากาศเพื่อป้องกันเชื้อโรค เป็นต้น

2.งานออกแบบเพื่อความสะดวกต่อผู้ใช้งาน และเพื่อความสวยงาม นอกจากหลักการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงสุขลักษณะแล้ว การออกแบบยังต้องคำนึงถึงความสะดวกต่อการใช้งาน (User friendly) โดยหลักการออกแบบเพื่อผู้ใช้ทุกกลุ่ม (Universal design)

3.งานออกแบบที่สังคมเข้าถึงได้ ตลอดจนการประเมินความสามารถในการใช้งานได้จริงในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้งานออกแบบสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้เป็นวงกว้าง

ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวต่อว่า สจล.ได้นำร่องประยุกต์ใช้แนวคิดการออกแบบดังกล่าวในห้องเรียนเพื่อต้อนรับการกลับมาเปิดภาคเรียนในเดือนส.ค.ที่จะยังคงมีการเรียนทั้งในรูปแบบออนไลน์ และการเรียนในห้องเรียนอย่างปลอดภัยภายใต้สิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรการป้องกันการติดเชื้อ

“ผลสำรวจพบว่า นักศึกษาร้อยละ 52.5 มีความสุขในการเรียนแบบ Study from Home ในระดับน้อยที่สุด เนื่องจากอุปสรรคด้านบรรยากาศที่ไม่เอื้ออำนวยถึงร้อยละ 71.4 และปัญหาด้านอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร ร้อยละ 62.4 ขณะที่คนทั่วไปและนักศึกษาร้อยละ 90 พร้อมให้ความร่วมมือและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ” ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี คณบดีคณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ได้เตรียมนำแนวคิดดีไซน์ดิสรัปชั่นมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบในพื้นที่ความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ (High risk) และพื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก หลังมาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 ซึ่งมีแนวโน้มที่ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตปกติรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น (New Normal)

ตัวอย่างพื้นที่สาธารณะที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กำลังเดินหน้าพัฒนางานออกแบบเพื่อยกระดับการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย ได้แก่ งานออกแบบในโรงเรียน ต้องคำนึงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ที่ต้องรักษาระยะห่าง (Physical distancing) โดยใช้ระบบแบ่งกลุ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง การใช้ที่กั้นระหว่างโต๊ะเรียน โต๊ะอาหาร เป็นต้น

งานออกแบบใน โรงพยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ โดยการตั้งจุดคัดกรองตั้งแต่ก่อนเข้าอาคาร ซึ่งอาจใช้ระบบการออกแบบห้องตรวจคัดกรองแบบความดันบวกเพื่อให้แพทย์ใช้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างปลอดภัย การติดตั้งระบบกรองอากาศในบริเวณที่แพทย์ต้องทำหัตถการให้แก่ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ

ขณะที่การออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวแต่ก็ต้องมีการออกแบบที่รองรับการอยู่ร่วมกันของคนแต่ละวัยอย่างปลอดภัย โดยลักษณะโดยทั่วไปของครอบครัวไทยเป็นครอบครัวที่มีคน 4 รุ่น อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย รุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก และเด็กเล็ก

สจล.ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวคอนเซ็ปต์ New Design for New Normal เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทร.0-2329-8111 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน