คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ดีเตอร์ โวล์กส์ และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอร์ริก ประเทศอังกฤษ ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างน้ำหนักของทารกแรกเกิด กับความเฉลียวฉลาดเมื่อเติบโตขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลของทารก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ และมีน้ำหนักไม่ถึง 1,500 กรัม อีกกลุ่มคลอดตามปกติระหว่าง 37-41 สัปดาห์ จากนั้นติดตามพัฒนาการและผลการวัดระดับความฉลาดทางด้านสติปัญญา (ไอคิว) 6 ครั้ง ในช่วงอายุ 5 เดือน ถึง 25 ปี

ปรากฏว่าเด็กที่มีภาวะทารกตัวเล็ก (เอสจีเอ) มีคะแนนทดสอบไอคิวน้อยกว่ากลุ่มที่คลอดในช่วงอายุครรภ์ปกติและน้ำหนักเป็นไปตามมาตรฐาน ถึง 16 คะแนน มากกว่าการเปรียบเทียบข้อมูลโดยใช้ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละครอบครัว ซึ่งเด็กที่มาจากครอบครัวที่ฐานะทางการเงินไม่มั่นคง จะมีคะแนนประเมินไอคิวต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่ครอบครัวมีฐานะมั่นคง 14 คะแนน

ขณะที่การเปรียบเทียบข้อมูลด้วยความสัมพันธ์ในครัวเรือน พบว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่ค่อยใกล้ชิดกับพ่อแม่ หรือมีการทะเลาะบ่อยครั้ง มีคะแนนไอคิวต่ำกว่าเด็กอีกกลุ่มซึ่งเติบโตในบ้านที่มีความสุข และสมาชิกครอบครัวรักใคร่กลมเกลียว ที่ 10 คะแนน

การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์แม่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการและสติปัญญาของเด็ก มากกว่าฐานะและปัญหาในครอบครัว ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่พ่อแม่ควรใส่ใจตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง และหากทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าปกติก็ควรทุ่มเทเสริมสร้างทักษะเพิ่มเติมเพื่อปรับพัฒนาการล่าช้าและเปลี่ยนให้เป็นไปตามเกณฑ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน