ภัยเงียบที่น่ากลัว! 4 วิธีด่วนจี๋ที่ต้องทำเมื่อโดนแฮ็กบัตรเครดิต และ 5 วิธีป้องกันการถูก Hacker ล้วงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ถ้าไม่อยากหมดตัว
ทุกวันนี้ยอมรับเลยว่าอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะสามารถทำให้เราติดต่อสื่อสารกับคนในครอบครัวที่ห่างไกล เพื่อน หาข้อมูลต่างๆ รวมถึงหางาน แต่อินเตอร์เน็ตก็เป็นสถานที่น่ากลัวเหมือนกัน เพราะมีเหล่ามิจฉาชีพที่อาศัยประโยชน์จากสิ่งนี้พยายามแฮ็กเข้าสู่บัญชีออนไลน์ของเรา ส่งอีเมล์ขโมยเลขบัตรเครดิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นประจำในโลกออนไลน์

เช่นเดียวกับนักแสดงสาว ปุ๊กลุก ฝนทิพย์ ที่ถูกมือดีแฮ็กบัตรเครดิต รูดเงินไปถึง 14 ครั้ง แถมก่อนหน้านี้ยังถูกแฮ็กอินสตาแกรมส่วนตัว เรียกค่าไถ่เป็นจำนวนเงิน 3,500$ หรือราว 110,000 บาท เพื่อแลกกับการได้ไอจีคืน

โดยวันนี้ทางข่าวสดออนไลน์พาคุณไปเช็ก 4 วิธีด่วนจี๋ที่คุณต้องทำเมื่อบัตรเครดิตโดนแฮ็ก
วิธีแรก อายัดบัตรเครดิตที่โดนแฮ็ก เมื่อคุณพบว่าบัตรเครดิตโดนแฮ็กหรือทำบัตรเครดิตหาย ขั้นตอนแรกที่ต้องทำทันทีเลย คือ การโทร.ไปหาธนาคารผู้ให้บริการเพื่อขออายัดบัญชีของบัตรเครดิตที่โดนแฮ็กทันที เพราะการอายัดบัตรเครดิตนี้จะทำให้บัตรเครดิตนั้นไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป แล้วพวกโจรก็จะไม่สามารถขโมยเงินขจากบัตรเครดิตใบนั้นได้อีก

วิธีที่สอง แจ้งความ ถ้าคุณรู้ตัวว่าทำบัตรเครดิตหาย หรือพบว่ามีการขโมยข้อมูลในบัตรเครดิตของคุณอย่ารอช้า หลังจากอายัดบัตรเครดิตแล้วต้องต่อด้วยแจ้งความเพื่อป้องกันไว้ก่อน

วิธีที่สาม ตรวจสอบสเตตเมนต์บัตรเครดิต หลังจากอายัดบัตรเครดิตและแจ้งความแล้ว ต้องตรวจสอบสเตตเมนต์ย้อนหลังของบัตรเครดิต เพราะว่าอาจเจอข้อมูลที่น่าสงสัย นอกจากนี้ หากคุณทำบัตรเครดิตใหม่แล้ว ก็อย่าลืมตรวจสอบสเตตเมนต์ทุกเดือนด้วยเพื่อเป็นการระมัดระวังการขโมยข้อมูลบัตรเครดิตเบื้องต้น หากว่าเจอข้อมูลที่น่าสงสัยจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

วิธีที่สี่ แจ้งเครดิตบูโร เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ควรทำหลังจากถูกขโมยข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งสำนักงานเครดิตบูโรแห่งชาติจะให้รายงานข้อมูลเครดิต แล้วเราสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปยื่นประกอบคำร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาได้

โดย 5 วิธีป้องกันการถูก Hacker ล้วงข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่ควรรู้และระมัดระวัง
วิธีแรก อย่าคลิกลิงก์ที่ไม่น่าไว้ใจ บรรดาอาชญากรบนอินเตอร์เน็ตชอบที่จะหลอกล่อให้ผู้ใช้คลิกเข้าไปในลิงก์ที่แนบมากับอีเมล์ต่างๆ หรือการทำอีเมล์ปลอมที่เหมือนกับอีเมล์จริงจนแทบแยกไม่ออกเลย ซึ่งพวกอีเมล์ปลอมที่บรรดาอาชญากรทำปลอมขึ้นมามาจากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ร้านค้าออนไลน์ หรือโฆษณาต่างๆ ที่เราเป็นสมาชิกอยู่
วิธีที่สอง อย่าตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดา เพราะการทำเช่นนี้จะส่งผลให้พวกแฮ็กเกอร์สามารถเข้ามาล้วงเอาข้อมูลของเราไปได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นทางที่ดีอย่าตั้งรหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดา หรือตั้งรหัสผ่านซ้ำๆ กัน

วิธีที่สาม ไม่กดรับเพื่อนที่ไม่รู้จักบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก LinkedIn Google เพราะผู้คนที่ขอเพิ่มเพื่อนเหล่านี้ อาจจะเป็นแฮ็กเกอร์ที่มาเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณไปได้
วิธีที่สี่ ตั้งค่าความปลอดภัยบนมือถือ เพราะจะสามารถช่วยให้ข้อมูลส่วนตัวไม่สูญหาย หรือตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี

วิธีที่ห้า ซื้อของออนไลน์กับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เพราะหากเว็บไซต์นั้นไม่มีความปลอดภัย แล้วเรากรอกข้อมูลบัตรเครดิตลงไป มันก็ง่ายที่แฮ็กเกอร์จะสามารถล้วงเอาข้อมูลของคุณไปได้ โดยวิธีการดูว่าเว็บไซต์นั้นมีความปลอดภัยไหมนั้น ควรดูที่ไอคอนรูปกุญแจล็อก ที่อยู่ตรงเว็บเบราว์เซอร์ของเว็บไซต์นั้นๆ ถ้าคุณเห็นไอคอนรูปกุญแจล็อกในเบราว์เซอร์ของเว็บไซต์นั้นๆ ให้คลิกที่ไอคอนเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงการเชื่อมต่อที่ปลอดภัย ถ้าคุณไม่เห็นไอคอนรูปกุญแจล็อก แสดงว่าหน้านั้นไม่ได้ถูกปกป้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก moneyguru.co.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน