สวรรค์ – ศาสนาเกือบทุกศาสนา บรรดาศาสนิกชน ทั้งหลายที่เชื่อกันว่า “มีชีวิตหลังความตาย” ต่างก็เชื่อกันว่าเมื่อตายจากโลกนี้ ไปแล้ว จิตวิญญาณของมนุษย์จะไม่ตายหรือสูญหายไป แต่จะไปสถิตอยู่ ณ ดินแดนแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นนรกหรือสวรรค์

การจะไปสถิตอยู่ ณ ที่ใดนั้น จะขึ้นอยู่กับศรัทธาหรือความเชื่อในการดำรงชีวิตของผู้นั้นอยู่ในภาวะของข้อกำหนดตามที่มีบทบัญญัติไว้ในคัมภีร์ของศาสนานั้น ซึ่งในส่วนนี้เองที่ทำให้

สวรรค์ในศาสนาแตกต่างกันออกไป

ศาสนาอิสลาม ผู้ที่จะเข้าสู่สวรรค์ของศาสนาอิสลามจะต้องผ่านการทดสอบหรือเรียกว่า สถานีอยู่ 7 สถานี ตั้งแต่การฟื้นคืนชีพขึ้นรอคำพิพากษาซึ่งแต่ละสถานีจะมีคำถามเฉพาะกำกับไว้คือ

สถานีแรก คือ ความรัก ศรัทธาต่อ บรรดาสานุศิษย์อันเป็นเครือญาติของท่านศาสดา

สถานีที่สอง คือ ถามถึงนมาช หรือการใช้ชีวิต

สถานีที่สาม คือ การบริจาค

สถานีที่สี่ คือ ถามถึงการถือศีลอด

สถานีที่ห้า คือ ถามถึงฮัจญ์

สถานีที่หก คือ ถามถึงเรื่อง ญิฮาด การอุทิศตนในศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า

สถานีที่เจ็ด คือ ถามถึงเรื่องความยุติธรรมของพระเจ้า

สวรรค์ของอิสลามนั้น ก็คือ พื้นที่ที่ ผู้พำนักจะได้รับความปลอดภัยจากทุกภยันตราย ทุกความเสียหาย ทุกความบกพร่อง ทุกโรคภัยไข้เจ็บ และทุกความเสื่อมทรามไม่แก่เฒ่า ไม่ตาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ได้อยู่ร่วมกับศาสดาในศาสนาจะอยู่ในปราสาทราชวังสีทอง ที่ผู้ถือศีลอดอยู่ในพื้นที่ที่งดงาม สงบ ด้วยสายน้ำและ พืชพรรณไม้ หรืออยู่ในพื้นที่ที่เป็นทองคำ และเงิน ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอม

สวรรค์ในคริสต์ศาสนานั้น แตกต่างจากสวรรค์ในศาสนาอื่น คัมภีร์ทางศาสนาหลายฉบับต่างกล่าวถึงสวรรค์ในภาวะที่แตกต่างกัน และมีการบรรยายถึงสภาวะของสวรรค์ที่แตกต่างกัน และไม่ยืนยันว่าสวรรค์ของคริสต์ศาสนาอยู่ที่ใด

สวรรค์ในคริสต์ศาสนาน่าจะมีลักษณะดังนี้

ไม่ต้องการแสงพระอาทิตย์ แสงดวงจันทร์เพราะพระสรีระของพระเจ้าเป็นแสงสว่างหรือดวงประทีปแห่งนคร และจะเป็นที่สถิตของผู้ที่ไม่เคยมีความประพฤติเป็นที่น่าสะอิดสะเอียน หรือพูดผิดเป็นผู้ไม่มี มลทินใดๆ (น่าจะหมายถึงผู้เชื่อและปฏิบัติตามบัญญัติสิบประการของศาสนานี้)

ศาสนาพุทธและศาสนาฮินดู สวรรค์จะมีลักษณะคล้ายกันคือ มี 6 สวรรค์ชั้นฟ้า ณ เขาพระสุเมรุ ผู้ที่จะขึ้นสวรรค์จะต้องบำเพ็ญเพียร ทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ ผู้อื่น และประพฤติอยู่ในศีลในธรรม ตามบทบัญญัติตามคัมภีร์

รวมทั้งต้องเป็นผู้มีใจเมตตากรุณา ทำบุญทำทานให้แก่ผู้คนหรือสังคม

สวรรค์ของพุทธและฮินดูมีสภาพเป็นเสมือนบำเหน็จแก่ผู้คนที่ประพฤติตนตามบทบัญญัติและบรรดาชาวสวรรค์ยังคงมี หน้าที่รับผิดชอบตามบารมีที่ได้กระทำ เช่น ในชั้นดาวดึงส์ ก็จะมีเทพหรือหัวหน้าทำหน้าที่สั่งสอนธรรมให้แก่เทพอื่นๆหรือเทพบางชั้นมีหน้าที่ต้องรับใช้เทพชั้นสูงขึ้นไป เช่น ชั้นนิมมานรดีมีหน้าที่สร้างสรรค์สิ่งที่ เทพชั้นปรนิมมานรดีชั้นสูงสุดต้องการ ยังดูเป็นสังคมชนชั้นทางปกครองอยู่บ้าง

ความแตกต่างระหว่างพุทธกับฮินดูก็ ทางพุทธศาสนาซึ่งมีกลุ่มบำเพ็ญบารมีทางสติ ปัญญา ที่มิใช่เทพแต่เรียกว่าชั้นพรหม พรหมมิได้เป็นเทพ ที่สถิตอยู่ในสวรรค์และพรหม ไม่ใช่เทวดา แต่เป็นกลุ่มของผู้ที่เจริญ สมาธิ ปัญญา จนบรรลุธรรมชั้นต่างๆ จนใกล้จะบรรลุสู่นิพพาน พรหมบางพวกจะบรรลุนิพพานโดยไม่มีการกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เทวดาหรือสัตว์โลกอีก ซึ่งในความเชื่อเรื่องสวรรค์ของพุทธศาสนาส่วนนี้ ส่วนใหญ่มาจากการแต่งคัมภีร์ในชั้นหลัง เช่น คัมภีร์ไตรภูมิถกา ที่แต่งขึ้นโดยพระเจ้าลิไท ซึ่งถ้าพิจารณาดูแล้วน่าจะมีลักษณะเป็น “ธรรมนูญการปกครอง” แบบหนึ่ง

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน