ธาตุทั้งห้าของโลก – พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้กำหนดองค์ประกอบสำคัญเบื้องต้นของการรวมกันเป็นรูป เรียกว่า มหาภูตรูป ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

ทางกายภาพได้อธิบายว่า

ดิน คือ ของแข็ง เป็นก้อน เป็นชิ้น

น้ำ คือ ของเหลว ที่ไหลเอิบอาบ มีรูปร่างไม่คงที่แล้วแต่ภาชนะที่รองรับ

ลม คือ การพัดไหวของอากาศที่เคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทาง

ไฟ คือ ความร้อน

ทางปรัชญา ดิน หมายถึง มวลหรือของแข็ง (เปรียบเทียบทางฟิสิกส์ก็คืออนุภาคที่มีขนาดอันวัดได้)

น้ำ หมายถึง แรงดึงดูดที่ทำให้มวลเข้ามารวมกัน (เพราะฉะนั้น สิ่งที่เห็นเป็นน้ำนั้นคือมวลของโมเลกุล ของไฮโดรเจน 2 อะตอม + ออกซิเจน 1 อะตอม เข้ามารวมกัน หรือมวลของโมเลกุลของธาตุใดที่เข้ามารวมกัน) แต่ไม่คงรูปหรือเปลี่ยนรูปไปตามภาชนะก็ได้

ลม หมายถึง พลังงานที่พามวลที่คงที่หรือไม่คงที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางใดก็ได้ (เพราะฉะนั้น ลมที่เราเข้าใจว่าพัดมากระทบตัวเรานั้นความจริงคือ มวลที่กระจัดกระจายไม่คงที่ ถูกพลังงานพัดมา กระทบตัวเรา)

ไฟ หมายถึง อุณหภูมิที่มีอยู่ในมวล หรือการเกิดขึ้นเพราะการเคลื่อนที่ของมวลทั้งภายในตัวมวลเองหรือจากการกระทบกันของมวลโดยรอบ

นิกายตันตระยานหรือ มหา ยาน องค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการเกิดเป็นรูปมี 5 ชนิดคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และ ที่ว่าง

ความหมายของดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่แตกต่างจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท แต่ที่เพิ่มเติมก็คือ ที่ว่าง เพราะหากไม่มีที่ว่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่อาจปรากฏ ขึ้นได้

ที่พิเศษต่างจากพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็คือการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ของธาตุต่างๆ เหล่านี้ (เพื่อใช้ในการวาดภาพที่เรียกว่า ภาพบูชาทางธรรมะ คือ

ดิน จะใช้สัญลักษณ์เป็นสี่เหลี่ยม มีสีเหลือง

น้ำ จะใช้สัญลักษณ์เป็นวงกลมสีขาว มีคลื่นเป็นสีฟ้าอ่อน

ลม จะใช้สัญลักษณ์เป็นสีเขียว มีภาพเป็นเหมือนก้อนเมฆ

ไฟ จะใช้สัญลักษณ์เป็นสีแดง มีภาพเป็นเปลวไฟ

ที่ว่างจะใช้สัญลักษณ์เป็นจุดสีน้ำเงิน

ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ใช้สีเป็นสัญลักษณ์ บวกกับสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และพระจันทร์นั้น แสดงถึงความเป็นโลกของมนุษย์ และอีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนาที่ฝ่ายตันตระยานเรียกว่า เหวัชระ

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน