คารวาลัย“เสฐียรพงษ์ วรรณปก”

บุ๊กสโตร์

คารวาลัย ณ ตรงนี้ สิ้น “เสฐียรพงษ์ วรรณปก” ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ นักปรัชญา ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ภาษาบาลี และนักเขียนคนสำคัญนำธรรมะมาใกล้ชิดประชาชนอย่างเรียบง่าย เข้าใจไม่ยาก มีอารมณ์ขัน ทั้งในรูปเล่มหนังสือและบทความที่สื่อสารออกมามากมาย ยังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต รวมทั้งเป็นผู้บุกเบิกการตั้งชื่ออันเป็นมงคลนามแก่ผู้เป็นเจ้าของชื่อ

ล่วงลับไปแล้ว ฝากไว้คุณูปการและผลงานทรงคุณค่า

งานเขียนส่วนหนึ่งมอบ “สำนักพิมพ์มติชน” นำเสนอสู่ผู้อ่าน

….“บทเรียนชาวพุทธจากกรณีธรรมกาย” นานเนิ่นหลายสิบปีเห็นจะได้ สำหรับการกำเนิดของ “วิชชาธรรมกาย” ซึ่งผู้ที่ประกาศการค้นพบก็คือ “หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ” โดยกล่าวอ้างว่าเป็นวิชชาของพระพุทธเจ้าที่เคยตรัสสอนไว้ แต่เมื่อพระองค์ปรินิพพานก็ได้สูญสลายหายไป จนผ่านไปหลังปรินิพพานราว 500 ปีต่อมาจึงได้ค้นพบขึ้นอีกครั้ง

ไม่ว่าวิชาธรรมกายของพระพุทธเจ้า จะเป็นเรื่องจริงหรือโกหก แต่ “วัดพระธรรมกาย” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หลวงพ่อสดจะอ้างว่าตนได้ค้นพบวิชาธรรมกาย แต่หลังจากประพฤติตามหลักความเชื่อดังกล่าว กลับค้นพบว่ามิได้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า จึงได้ยุติลงก่อนจะมรณภาพในอีกหลายปีต่อมา กระนั้นวิชาธรรมกายกลับได้รับการถ่ายทอดจากลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อสด กลายเป็นศาสนสถานที่สั่งสมอำนาจและบารมีด้วยพุทธพานิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

“เสฐียรพงษ์ วรรณปก” ราชบัณฑิตคนสำคัญของไทย ผู้แลเห็นความเท็จที่แฝงอยู่ในคำสอนของวัดธรรมกาย จึงได้ออกมาตอบโต้ชี้แจงว่า หลักคำสอนดังกล่าวได้รับการบิดเบือน แต่งแต้มจากดำเป็นขาว อธิบายอย่างละเอียดถึงข้อเท็จจริงในพระไตรปิฎกว่าเป็นอย่างไร การอัดธรรมกาย การถวายข้าวแก่พระพุทธเจ้า การนั่งสมาธิจนเห็นลูกแก้ว การเดินเท้าบนดอกดาวเรือง ฯลฯ เป็นกิจของสงฆ์หรือเป็นเรื่องหลอกลวง เพื่อให้คนไทย “ตื่นรู้” ถึงหลักคำสอนว่าสมควรที่จะปฏิบัติตาม หรือจะต่อต้านเพื่อปกป้องหลักการอันแท้จริงของพุทธศาสนา

“พูดกันมากว่า ธรรมกายของหลวงพ่อสดนั้น แรกๆ ท่านเองก็นึกว่าเป็นของแท้ แต่พอปฏิบัติไปๆ ก็ “ติดตัน” ไม่ก้าวหน้า ท่านจึงไปปรึกษาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นใครก็ทราบกันอยู่ แต่ยุทธจักรไม่บอกกัน รู้กันภายใน

หลังจากท่านได้ช่วยสอบอารมณ์ ช่วยแก้ไขให้สักระยะหนึ่ง หลวงพ่อสดก็ “ผ่าทางตัน” นี้ไปได้ และได้เขียนทำนองประกาศความจริงข้อนี้ไว้ให้อาจารย์วิปัสสนารูปนั้นใต้รูปถ่ายของท่านที่มอบถวายไว้ด้วย

เมื่อถูกถามว่า เมื่อรู้ว่าธรรมกายของท่านนั้นไม่ใช่ของแท้ แล้วทำไมจึงไม่บอกให้ศิษย์ทั้งหลายทราบ หลวงพ่อก็ตอบว่าคนเขาเชื่อกันมากแล้ว ไม่รู้จะทำอย่างไรได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ธรรมกายนั้นเป็นวัสดุชำรุดที่เจ้าของท่านทิ้งแล้ว เพราะเจ้าของท่านได้อาศัยแนวทางแห่งวิปัสสนาก้าวไปถึงไหนๆ แล้ว แต่ลูกศิษย์หลานศิษย์ก็ยัง “กอด” มรดกอันชำรุดนั้นไว้อย่างเหนียวแน่น…หลานศิษย์ เหลนศิษย์บางคนเอามาเป็นเครื่องมือขายกิน สร้างความร่ำรวยให้แก่ตนจนน่าตกใจ นี่สิครับน่าตำหนิ”

….“สวนทางนิพพาน” มุ่งให้ความรู้เรื่องพุทธศาสนาที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อความสงบสุข อาจจะไม่ใช่เส้นทางสู่การบรรลุถึงนิพพานโดยตรง แต่เป็นพื้นฐานสำคัญให้ไต่ระดับขึ้นไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด อาจเป็นความสมบูรณ์แห่งชีวิตที่ปรารถนา หรือสร้างประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมที่คุณผู้อ่านดำรงอยู่

สาระความรู้ในเล่มนี้ล้วนตั้งอยู่บนเส้นทางที่มุ่งตรงสู่พระนิพพาน จุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนา โดยความตั้งใจของผู้เขียนที่ตั้งชื่อ “สวนทางนิพพาน” ก็เพื่อแสดงแง่มุมบางประการที่สะท้อนผ่านข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ของคนธรรมดาบนโลกใบนี้ กับชีวิตที่ต้องพานพบปัญหาและอุปสรรคอันดำเนินไปบนวิถีที่เป็นขั้วตรงข้ามจากนิพพาน และความสัมพันธ์ของคนไทยส่วนใหญ่ต่อศาสนาพุทธ ยังคงเกี่ยวพันกับเรื่องความดี-ความชั่ว, นรก-สวรรค์, คาถาศักดิ์สิทธิ์, การสวดมนต์, สิ่งที่เป็นมงคลต่อชีวิต ฯลฯ

….“สองทศวรรษในดงขมิ้น” ผลงานที่เขียนโดยใช้นามปากกา “ไต้ ตามทาง” เล่าเรื่องราวชีวิตจากสามเณรน้อยในหมู่บ้านถิ่นอีสาน บวชเรียนจบการเปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นรูปเเรกในรัชกาลที่ 9 กระทั่งไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

เป็นที่ยอมรับ หนังสือเล่มนี้เป็นได้ทั้งคู่มือบวชเรียนพระสงฆ์ฉบับพิเศษ เเละบันทึกประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ก็ควรค่าสำหรับคนไทยทุกคน

ผู้สื่อข่าวหรรษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน