คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

ปล่อยโรงงานปุ๋ยชีวภาพรกร้าง

เรียน บ.ก.ข่าวสด

โรงผลิตปุ๋ยชีวภาพชุมชนบ้านม่วงไข่ หมู่ที่ 1 ต.พรรณานิคม จ.สกลนคร ก่อสร้างขึ้นมาก็เพื่อผลิตปุ๋ยชีวภาพในชุมชน โดยได้รับสนับสนุนจากโครงการเศรษฐกิจชุมชนพอเพียง 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) ตั้งแต่ปี 2553 สร้างแล้วปล่อยให้ป่า ขึ้นรกร้างว่างเปล่า เป็นบ้านจิ้งจก ตุ๊กแก เสียดายเงินงบประมาณ ที่นำมาลง เกิดประโยชน์น้อย ชาวบ้านฝากให้หน่วยงานที่ รับผิดชอบ ช่วยมาปรับปรุงเพื่อทำประโยชน์อย่างอื่น อย่าปล่อยทิ้งรกร้างเลย

ด้วยความนับถือ

พจน์

ตอบ คุณพจน์

น่าเสียดายงบประมาณจริงๆ ใครรับผิดชอบโปรดดูแลด้วย

แขวงทางหลวงหนองบัวลำภูชี้แจง

เรื่อง ตอบข้อร้องเรียนหนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ภาพมันฟ้อง

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

อ้างถึงหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2560 ฉบับที่ 9,558

ตามคอลัมน์ภาพมันฟ้อง หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2560 ฉบับที่ 9,558 หัวข้อข่าวแปลกดี ความว่า “ทางหลวงแผ่นดินสาย 228 จากวงเวียนหน้ามูลนิธิรวมน้ำใจ หนองบัวลำภู ไปถึงโรงน้ำแข็ง ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู ระยะทางไม่ถึงกิโลเมตร มีสะพาน 5 สะพาน แต่มี 2 สะพานที่เอกชนถมดินปิดดังที่เห็น ตรวจสอบกันหน่อยว่าอย่างไร? กันแน่ ถ้าไม่มีคลองสาธารณะจะสร้างสะพานทำไม” นั้น

แขวงทางหลวงหนองบัวลำภู ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

1.สภาพทางเดิมเป็นทาง 2 ช่องจราจร ผิวทาง AC กว้าง 7.00 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.00 เมตร เขตทางข้างละ 15.00 เมตร มีร่องน้ำธรรมชาติในเขตทางหลวง

2.สภาพทางปัจจุบัน เป็นทาง 4 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 13.00 เมตร มีเกาะแบ่งกลางถนน เกาะสี กว้าง 4.00 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.95 เมตร ทางเท้าข้างละ 3.45 เมตร (ขยายถนนสุดเขตทาง) ไม่มีร่องระบายน้ำ

จากการตรวจสอบแผนที่ทางหลวงและภาพถ่ายระวาง กับที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองบัวลำภู ในเบื้องต้นบริเวณที่ติดสะพานเป็นที่ของเอกชน ไม่มีลำห้วย หรือร่องน้ำสาธารณะแต่อย่างใด

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

นายวิรัตน์ แสนอุดม

ผู้อำนวยแขวงทางหลวงหนองบัวลำภู

เหตุที่โครงการรัฐโดนต่อต้าน

เรียน บ.ก.ข่าวสด ที่นับถือ

พลังงานและกระแสไฟฟ้าเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็น แต่จะทำอย่างไรที่จะให้คนในพื้นที่ยอมรับให้สร้างโรงงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะใช้ถ่านหิน ขยะ ฯลฯ สิ่งหนึ่งคือความเชื่อถือเรื่องมาตรฐาน ประสบการณ์เดิมๆ ที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอของคนไทยที่ต้องพบอยู่จนชาชินคือ ความไม่มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน อาคาร โครงการที่เกิดจากหน่วยงานของรัฐ ถ้าเข้มแข็งมีมาตรฐาน ทั้งโครงสร้างโรงงาน กระบวนการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ การมีส่วนร่วมของชุมชน การแก้ปัญหา สวัสดิการของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ต้องมีมาตรฐานสูงระดับสากล ถ้าทุกอย่างมีมาตรฐานต่อให้สร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินทุกภาค กระแสการคัดค้านจะมีน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย เพราะทุกคนรู้ว่าเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้านั้นบางอย่างใช้ได้ไม่เท่าไหร่ก็จะหมดไป พลังลม แสงแดด ต้นทุนก็สูง บ้านใคร ใครก็รัก จะสร้างหรือไม่สร้าง ชุมชนในพื้นที่ สำคัญที่สุด

ฉวี

ตอบ คุณฉวี

เห็นด้วยว่า ปัญหาไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความน่าไว้วางใจ เป็นเรื่องใหญ่ รวมทั้งต้องรับฟังเสียงคนในท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน