สำนักงานทรัพยากรน้ำชี้แจง : บ.ก.ตอบจดหมาย

เรื่อง ชี้แจงข่าว เรื่อง “บทเรียนสูญเปล่ามูลค่า 2 แสนล้าน”

เรียน บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ข่าวสด

อ้างถึง เนื้อหาข่าว “บทเรียนสูญเปล่า มูลค่า 2 แสนล้าน” วันที่ 20 กันยายน 2562

ตามที่หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวสดประจำ วันที่ 20 กันยายน 2560 คอลัมน์ทิ้งหมัดเข้ามุม ได้เผยแพร่บทความของคอลัมนิสต์ มันฯ มือเสือ ประเด็น “บทเรียนสูญเปล่า มูลค่า 2 แสนล้าน” มีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า พล.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขงบประมาณบริหารจัดการน้ำหลังจากตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่ง ชาติขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดังนี้ ปี 59 จำนวน 52,630 ล้าน ปี 60 จำนวน 54,200 ล้าน ปี 61 จำนวน 60,355 ล้าน และปี 62 จำนวน 62,831 ล้าน สรุปรวม 4 ปี ในยุครัฐบาลคสช. ใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำกว่า 2.3 แสนล้าน ไม่รวมการใช้อำนาจของ ม.44 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สร้างระบบศูนย์น้ำอัจฉริยะใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้าน จุดประสงค์เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลกลางให้สะดวกต่อการใช้งาน ติดตามวิเคราะห์พยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารแห่งประเทศ แต่ 4 ปีผ่านไปกับงบกว่า 2.3 แสนล้าน น้ำท่วม-ภัยแล้งยังคงเกิดซ้ำซากทุกปี ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้วิเคราะห์ ข้อเขียนในบทความดังกล่าวแล้วพบว่า บทความของผู้เขียนมีประเด็นบางส่วน ที่ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยแบ่งเป็นสาระสำคัญ 5 ประเด็น กล่าวคือ

1.ก่อนปี 2558 การจัดสรรงบประมาณไม่มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการ ดังนั้น การตั้งงบประมาณที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ จึงดำเนินการตามภารกิจตนเอง ขาดการพิจารณาความซ้ำซ้อนทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงนโยบาย อีกทั้งไม่มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดและแผนยุทธศาสตร์ด้านน้ำ เพื่อให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกัน

2.ปี 2558 จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 มีการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการรวมทั้งสิ้น 19 เรื่อง และมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในงบประมาณบูรณาการดังกล่าว โดยใช้ตัวชี้วัดเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ 12 ปี (พ.ศ.2558-2569) ซึ่งเป็นแผนหลักในการพิจารณาความสอดคล้องของทุกหน่วยงานด้านน้ำให้มุ่งไปสู่ ผลสัมฤทธิ์เดียวกัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการงบประมาณโดยมีหน่วยปฏิบัติ คือ กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมชลประทาน กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นเจ้าภาพหลัก

3.ปี 2560 รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็น Regulator หรือหน่วยงานหลักในการเสนอแนะนโยบาย จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ตลอดจนการบูรณาการแผนงาน งบประมาณ และติดตามประเมินผลโครงการด้านน้ำทั้งหมด ดังนั้น ในการตั้งงบประมาณบูรณาการทั้งปี 2561 สทนช.จึงเป็นหน่วยนโยบายที่เป็นเจ้าภาพหลักในการพิจารณาบูรณาการแผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อให้มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้านน้ำที่มีมากกว่า 40 หน่วยงาน ใน 7 กระทรวง

4.ปี 2561 สทนช.ปรับปรุงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ 12 ปี (พ.ศ.2558-2569) ให้เป็นแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี นอกจากนี้ มีการกำหนดให้มีพื้นที่ Area Based จำนวน 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบนำมาซึ่งการกำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการจัดลำดับ ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการด้วย

5.ตั้งแต่ปี 2558-2562 รัฐบาลสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เป็นภาพรวมของประเทศให้เกิดสัมฤทธิผล ดังนี้

5.1 ผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำช่วงแรกเน้นงาน โครงการขนาดเล็กที่ทำได้ทันที ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะเริ่มผลักดันการดำเนินโครงการได้ในปี 2563 ประกอบด้วย

(1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เช่น จัดทำประปาหมู่บ้านแล้วเสร็จ 7,321 หมู่บ้าน

(2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้จำนวน 2.71 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำได้ 2,156 ล้านลูกบาศก์เมตร ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน 7,106 แห่ง และฟื้นฟูแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 8,105 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา อ่างเก็บน้ำป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

(3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย สามารถปรับปรุงทางน้ำ 75 ร่องน้ำ วางระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชน 274 แห่ง เขื่อนป้องกันตลิ่ง 97 กิโลเมตร โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา และโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง

(4) การจัดการคุณภาพน้ำ สามารถพัฒนาระบบน้ำบำบัด น้ำเสีย 58 แห่งและเฝ้าระวังน้ำเค็ม 7 ลุ่มน้ำ

(5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้ 0.512 ล้านไร่ และป้องกันปัญหาการกัดเซาะ 1.43 ล้านไร่

(6) การจัดการ เช่น การผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยกฎหมายได้กำหนดบทบาท หน้าที่และอำนาจของ “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงระหว่างแผนงาน ระดับปฏิบัติการ ประชาชน และองค์กรผู้ใช้น้ำเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมจัดทำแผนแม่บทการใช้ การพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟูและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำร่วมกัน เพื่อเสนอคณะกรรมการการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ สนทช.ยังได้ดำเนินการศึกษาทบทวนการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำในประเทศ แบบใหม่เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก จากเดิม 25 ลุ่มน้ำ ให้เหมาะสมกับการนำมาใช้สนับสนุนด้านการบริหารการจัดการน้ำ การผลักดันแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และการพัฒนาระบบคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นการวางรากฐาน การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

5.2 สามารถลดปริมาณพื้นที่เกิดความเสียหายจากภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งงบประมาณในการชดเชยเยียวยา โดยมีปริมาณลดลงเกือบ 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบจากก่อนปี 2557 มีรายละเอียดดังนี้

(1) การประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยแล้งลดลง โดยประกาศเป็นจำนวนพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ ณ วันที่ 1 เมษายน ที่เป็นช่วงฤดูแล้งของทุกปี แบ่งเป็นช่วงระหว่างปี 2551-2554 เฉลี่ย 22,813 หมู่บ้าน ปี 2555-2557 เฉลี่ย 20,915 หมู่บ้าน และปี 2558-2562 เฉลี่ย 2,471 หมู่บ้าน จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบปี 2551-2561 มีจำนวนหมู่บ้านประกาศเขตให้การช่วยเหลือภัยแล้งลดลงอย่างมาก ถึงแม้ว่า ในปี 2558-2559 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยและอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม

(2) พื้นที่เกษตรเสียหายจากน้ำท่วมลดลง แบ่งเป็นช่วงระหว่างปี 2551-2553 เฉลี่ย 5.15 ล้านไร่ ปี 2554-2556 เฉลี่ย 5.66 ล้านไร่ และปี 2557-2561 เฉลี่ย 1.67 ล้านไร่

(3) งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม และภัยแล้งลดลง ซึ่งเป็นงบประมาณตามระเบียบทางราชการ แบ่งเป็นช่วงเดือนมกราคม 2551-เดือนมิถุนายน 2554 รวม 50,281 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม 2554-เดือนมิถุนายน 2557 รวม 89,755 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม 2557-เดือนกันยายน 2561 รวม 18,594 ล้านบาท

ในการนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) หวังว่าจะได้รับการพิจารณานำเสนอข้อมูลเท็จจริงที่ถูกต้องเพื่อเผยแพร่ไปยังสาธารณชนต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน