ร้องเรียนก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น

อุ้มรีสอร์ต-ไม่อุ้มป่า

คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

อุ้มรีสอร์ต-ไม่อุ้มป่า

เรียน บ.ก.

ตกลงไม่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในที่ดิน ส.ป.ก. แต่มอบให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นครอบครองสิทธิจัดหาผลประโยชน์ เรื่องนี้ก็คงเป็นการแปลงโฉมโฉนดทองคำที่ดูเหมือนจะถูกต่อต้านจากประชาชน นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องผลประโยชน์ซับซ้อนของพรรคการเมืองขาใหญ่ในรัฐบาล เพราะไปจัดสัมมนาในรีสอร์ตไร้โฉนด มองว่าการแก้ปัญหาบางเรื่องใช้สองมาตรฐาน

เช่นมีภาพการทำลายสินค้าปลอมแปลงด้วยการใช้รถบดเหยียบทำลายให้เห็นทางสื่อฯ เผาทำลายยาเสพติด เช่นเดียวกับร้านอาหาร รีสอร์ต เทคอนกรีตริมลำธารและร้านค้าก่อสร้างแพในลำธารที่ถูกทำลายให้เห็นทางโทรทัศน์เร็วๆนี้

แต่สำหรับสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายในที่ดินส.ป.ก. ซึ่งรัฐบาลมอบให้เกษตรกรเข้าทำกิน มิใช่ให้ขายสิทธิให้นายทุนสร้างอาคารนั้นกลับมอบให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจัดการ ซึ่งเท่ากับเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเพราะป่าเป็นทรัพย์สินของคนไทยทั้งชาติ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถปกป้องป่าไว้ได้ แทนที่จะซ่อมแซมป่ากลับมอบป่าให้เกษตรกร แล้วเกษตรกรก็ขายสิทธิให้นายทุนสร้างรีสอร์ต

ซึ่งสมควรจะต้องทำลายเพื่อปลูกป่า มิใช่คงรีสอร์ตไว้ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นครอบครอง รีสอร์ตก็เหมือนสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายที่จะต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา

ดังนั้นการที่รัฐบาลนี้เลือกอุ้มรีสอร์ต แต่ไม่อุ้มป่าที่เป็นทรัพยากรอันมีค่าของประเทศและเป็นมรดกของลูกหลานไทย ก็หมายความว่าลูกหลานไทยถูกขโมยมรดก เหมือนกรณีบังคับขายปตท.ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องใช้น้ำมันและแก๊สแพง กำไรก็ตกเป็นของเจ้าของหุ้นที่สามารถซื้อได้ในเวลา 10 วินาที

เมื่ออุ้มรีสอร์ตในที่ดินส.ป.ก.ซึ่งยังไม่แปลงให้เป็นโฉนด แต่มอบอำนาจให้การเมืองท้องถิ่นดูแลสิทธิประโยชน์ ดังนั้นกรณีรีสอร์ตเจ้านี้ ก็ต้องได้รับสิทธิครอบครองต่อไป ส.ป.ก. ก็คือช่วยเหลือเกษตรกร มิได้ช่วยเหลือนักธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกป่า และซื้อสิทธิ ส.ป.ก. เพิ่มขึ้น เท่ากับขโมยทรัพย์สินของส่วนรวม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการใช้อำนาจอย่างไร้ธรรมาภิบาลอย่างยิ่ง

สาวปากกล้า

ตอบ คุณสาวปากกล้า

เป็นความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาอย่างมาก หวังว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะมีคำชี้แจงให้กระจ่าง

 

ร้องเรียนก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น

ถึง ข่าวสด

ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านของตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะที่มีบ้านเรือนอยู่ชายทะเล ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแม้ทางกรม เจ้าท่าจะว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ด้วยวิธีการตอกแผ่นซีเมนต์ลึกลงใต้ผิวดินเป็นแนวยาว ด้วยวงเงิน 134 ล้านบาท ในระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร

แต่พบว่าแม้การก่อสร้างจะเกือบแล้วเสร็จ แผ่นซีเมนต์นั้นไม่ได้ทำให้เชื่อมต่อกัน หลายจุดจึงมีช่องโหว่ ทำให้คลื่นซัดน้ำทะเลและทรายเข้ามา บางจุดมีรอยร้าว ในขณะที่บางจุดก็มีความสูงของเขื่อนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่สามารถป้องกันปัญหาการกัดเซาะได้ พวกเราชาวบ้านจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่าและจังหวัดสงขลาเข้าตรวจสอบโครงการนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นการใช้งบประมาณที่เปล่าประโยชน์

ริมเล

ตอบ ริมเล

กรมเจ้าท่าและจังหวัดสงขลาโปรดรับทราบข้อร้องเรียนนี้ด้วย

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน