นโยบายบุหรี่ของรัฐบาล / เมื่อเศรษฐีแปลงร่างเป็นเกษตรกร

คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

นโยบายบุหรี่ของรัฐบาล

เรียน บ.ก.

คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมายตามที่กรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีประกาศแจ้งเตือนให้ร้านค้า หน้าร้าน ผู้ค้าบุหรี่ทั้งหลาย ยกเลิกจำหน่ายบุหรี่ซองรูปแบบเก่า จะต้องเป็นซองบุหรี่พื้นขาว รูปแบบซองใหม่ ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ตามมาตรา 38 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2560 ร้านค้า ผู้จำหน่ายบุหรี่ทั้งหลายที่มีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ต้องติดต่อบริษัทผู้ผลิตเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงซองบรรจุบุหรี่ใหม่ และให้แจ้งทางกรมเพื่อให้ทราบระยะเวลาดำเนินการ

เท่าที่ได้ติดตามดูตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ร้านค้าส่วนใหญ่ ร้านชำ ร้านโชห่วย สถานบันเทิง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ยังคงจำหน่ายบุหรี่ซองรูปแบบเก่าทั้งหมด ยกเว้นตามร้านสะดวกซื้อ ในซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เริ่มมีการเปลี่ยนมาเป็นซองพื้นขาว

สำหรับร้านค้าที่ยังคงจำหน่ายบุหรี่ซองแบบเก่า เท่าที่ได้พูดคุยส่วนใหญ่จะทยอยขายบุหรี่ซองรูปแบบเก่าให้หมด แต่ไม่ได้แจ้งขอเปลี่ยนกับทางบริษัท ยกเว้นร้านค้าขายส่งหรือเอเยนต์รายย่อยในต่างจังหวัด ที่ได้ติดต่อขอเปลี่ยนร้านค้าผู้จำหน่ายส่วนใหญ่จะบ่นกันว่าน่าจะเริ่ม 1 มกราคม 2563 ให้เวลาเตรียมตัวสักหน่อย แต่ประกาศแจ้งเตือนออกมากระชั้นชิด

ปัญหาของพวกเขาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสต๊อกที่มีอยู่ค่อนข้างเยอะ ถ้าให้เวลาสัก 3-4 เดือน เพื่อระบายสต๊อกของเก่าออกและรับของใหม่แบบซองบุหรี่พื้นขาว ก็น่าจะเป็นช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนที่ลงตัว ไม่เกิดปัญหาที่ต้องเปลี่ยนแปลงกะทันหัน

ผู้จำหน่ายบุหรี่มองว่าการที่เปลี่ยนแปลงซองบุหรี่เป็นพื้นขาวก็ไม่ได้ช่วยลดจำนวน ผู้สูบบุหรี่ลงสักเท่าไหร่ มีคนสูบบุหรี่หน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เห็นได้จากปริมาณการขายบุหรี่มิได้มีปริมาณลดลง ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่ก็ยังมีโรงงานผลิตยาสูบ มีการขายบุหรี่แล้วรณรงค์ให้เลิกสูบ ทำเพื่ออะไร สองมาตรฐานหรือเปล่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดหรือเปล่า

นับถือ

ผู้อ่าน

ตอบ ผู้อ่าน

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของคุณเกี่ยวกับนโยบายด้านบุหรี่ของรัฐบาล อ่านแล้วน่าสนใจดี เข้าทำนองพูดอย่างทำอย่าง เปลี่ยนซองบุหรี่บ้าง รณรงค์เลิกบุหรี่บ้าง แต่โรงงานยาสูบก็ผลิตไม่เลิก

 

เมื่อเศรษฐีแปลงร่างเป็นเกษตรกร

ถึง บ.ก.

ผลจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่จะทำให้ผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องยื่นชำระภาษีสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ทำเลทอง แล้วยิ่งแปลงใหญ่ที่ว่างเปล่า ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องดีคือเจ้าของที่แปลงใหญ่คงลงทุนทำการเกษตรมากขึ้น

โดยส่วนตัวแล้วสนับสนุนวิธีการนี้ แม้จะมองว่าเป็นการเลี่ยงภาษีอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นประโยชน์ไม่ปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่าไร้ประโยชน์ อย่างน้อยปลูกผักผลไม้ทำให้พื้นที่เป็นสีเขียวร่มรื่น พื้นที่ 1 ไร่พยายามปลูกกล้วยให้ได้ 200-400 ต้น

ถ้าอยู่กลางใจเมืองก็ให้เช่าเป็นตลาดนัดเพื่อการเกษตร หรือให้เช่าพื้นที่สำหรับตากแห้ง ลานข้าวเปลือก ข้าว ข้าวโพด มัน มันสำปะหลัง อย่าคิดค่าเช่าสูงถือว่าเป็นการ เกื้อกัน เนื่องจากได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ด้วยความเคารพ

ตานี

ตอบ ตานี

เรื่องนี้ก็ต้องมองทั้งสองทางอย่างที่คุณว่ามาจริงๆ นั่นคือ ที่ดินแปลงใหญ่ของมหาเศรษฐีทั้งหลาย มีการลงทุนทางเกษตร ทำตัวเป็นเกษตรกร เพื่อเลี่ยงภาษี แต่ถ้ามองในแง่ดีเมื่อเป็นพื้นที่เกษตรก็ยังเป็นประโยชน์ด้านการกินอยู่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน