บก.ตอบจดหมาย

ชี้แจงผู้ใช้บริการทรูมูฟเอช

เรื่อง ชี้แจงกรณีพบค่าบริการส่งข้อความระหว่างประเทศไปยังแคนาดา/สหรัฐอเมริกา

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย ฉบับวันจันทร์ที่ 26 กันยายน 2559 ได้เผยแพร่เรื่องร้องเรียนจาก ร.ต.ชูชาติ ชาตะสุภณ ผู้ใช้บริการทรูมูฟ เอช หมายเลข 08-9125-9457 เกี่ยวกับค่าบริการส่งข้อความระหว่างประเทศไปยังประเทศแคนาดา/สหรัฐอเมริกา บริษัทต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น จากการตรวจสอบ แล้วพบว่ามีการส่งข้อความจากหมายเลขของลูกค้าจริง เป็นข้อความภาษาไทยที่พิมพ์ไม่ได้ใจความ กดส่งเพียง ครั้งเดียว แต่เนื่องจากข้อความยาว ระบบจึงแบ่งส่งข้อความ 3 ครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากลูกค้ายืนยันว่าไม่ได้ใช้บริการดังกล่าว บริษัทจึงพิจารณาปรับลดค่าบริการ ในรอบบิล 08/2016 จำนวน 28.89 บาท (รวมภาษี) บริษัทได้ติดต่อลูกค้าพร้อมชี้แจงรายละเอียดให้ลูกค้ารับทราบ ลูกค้าเข้าใจและยินดียุติข้อร้องเรียน

บริษัทขอขอบพระคุณท่านที่ช่วยเป็นสื่อกลางแจ้งปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ในโอกาสต่อไปสายงานสื่อสารองค์กร ประชาสัมพันธ์การตลาด มีความยินดีที่จะประสานงานตรวจสอบให้ ในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนหรือข้อสงสัยจากลูกค้าเกี่ยวกับปัญหาการใช้สินค้าและบริการของกลุ่มทรู ที่ส่งผ่านมายังท่านขอความกรุณาติดต่อมาได้ที่หมายเลข 0-2699 2770-77 จักขอบพระคุณยิ่ง

บริษัท เรียล มูฟ จำกัด

เสนอแนะค่ารักษาพยาบาลของขรก.

เรียน น.ส.พ.ข่าวสด

กรณีจะให้บริษัทประกันซึ่งเป็นบริษัทเอกชน เข้ามาดูแลระบบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการแทนรัฐ แน่ใจแล้วหรือครับ การที่จะเอาเงินไปให้เอกชนดูแล นโยบายที่วางกันเรื่องยานอกยาใน ก็ต้องใช้ให้เข้มข้น โรคบางโรคไม่จำเป็นต้องจ่ายยานอก เอายาในบัญชีหลักทำในไทยก็ได้ ยาแพงใช่ว่าจะดีเสมอไป ถ้าคนไข้รายไหนต้องการยานอก คุณหมอหรือไม่ก็เภสัชที่ห้องยาก็ต้องอธิบายว่า ถ้ายานอกคนไข้จ่ายเอง แต่ถ้าเป็นยาในประเทศเบิกจ่ายตรงได้ ปฏิบัติให้เหมือนกันหมดต้องออกมาเป็นกฎชัดเจน

ส่วนกรณีมีคนไข้เวียนเทียนรับยาตามโรงพยาบาลนั้น น่าจะตรวจสอบกันได้ไม่ยาก ไม่ทราบว่าระบบของกรมบัญชีกลาง และโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือข่ายจ่ายตรง เชื่อมโยงข้อมูลกันได้หรือไม่ เช่นคนไข้มารักษาด้วยโรคอะไร? และรับยาประเภทไหนไป ถ้าโรคเดียวกัน ยาประเภทเดียวกัน ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ถ้าไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งควรจะระงับการจ่าย เพราะใช้สิทธิ์ในการรักษาด้วยโรคเดียวกันซ้ำซ้อนในเวลาที่ใกล้เคียง ส่อว่าทุจริต ถ้าต้องการได้ยาต้องจ่ายเงินเอง ห้ามใช้สิทธิ์ เพราะโดยปกติแล้วถ้าเป็นโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิต ฯลฯ หมอจะจ่ายยาให้ 3 เดือน คือต้องเข้มงวดจริงจัง เรื่องอย่างนี้ทั้งหน้าเคาน์เตอร์ ผู้คัดกรองสิทธิ์ คุณหมอ เภสัชที่จ่ายยา อาจต้องยุ่งยากหน่อยในการตรวจ เช่นตรงคัดกรองสิทธิ์ เมื่อตรวจสิทธิ์คนไข้แล้ว นอกจากสิทธิ์แล้วควรจะแสดงหน้าจอด้วยว่า ล่าสุดคนไข้ไปรักษาโรงพยาบาลไหนมา รับจ่ายประเภทไหน เป็นการตรวจสอบตั้งแต่แรก ไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิบุคคล แต่ต้องทำเพื่อควบคุมงบประมาณ ต้องตรวจสอบให้รวดเร็วทันที ไม่ใช่ 3 เดือนผ่านมาแล้วตรวจพบว่ามีการเวียนเทียนยา

ราษฎร์เต็มขั้น

ตอบ ราษฎร์เต็มขั้น

ขอบคุณที่ให้ข้อเสนอแนะมาอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน