คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

รฟม.ชี้แจงข้อสงสัยของอดีตส.ส.

เรื่อง รฟม.ขอชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายวิลาศ ถึงความผิดปกติในการทำสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ส่อผลประโยชน์ทับซ้อนเสียหายแสนล้าน

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามที่ สื่อมวลชนมีการนำเสนอข่าวกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวใน เฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง ถึงความผิดปกติในการทำสัญญา ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน ส่อผลประโยชน์ทับซ้อนเสียหายแสนล้าน โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น นั้น

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจง เป็นประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณีการตั้ง รศ.ดร.นพดล เพียรเวช เป็นกรรมการคัดเลือก (มาตรา 35) และกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43)

รฟม. ขอชี้แจงว่า รศ.ดร.นพดล เพียรเวช เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ คัดเลือก (มาตรา 35) และกรรมการกำกับดูแล (มาตรา 43) แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเป็นผู้จัดทำ และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิค เป็นอาจารย์สอนหนังสือในระดับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มีผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิคที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติมากมาย นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้ทำการศึกษาและให้คำแนะนำการแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิคที่เกิดขึ้นกับโครงการก่อสร้าง ขนาดใหญ่ของประเทศไทยอยู่เสมอ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น ในลักษณะการให้บริการให้คำปรึกษาและคำแนะนำในเชิงวิชาชีพวิศวกรรมเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น โดยมิได้เป็นที่ปรึกษาประจำของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายใด

ประเด็นที่ 2 กรณีการตั้งนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) เป็นประธานคัดเลือกฯ สายสีน้ำเงิน ในขณะที่สายสีชมพูและสายสีเหลืองเป็นรอง ผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) โดยที่เคยเป็นบุคคลที่เคยให้ รฟม.ชดเชยเงิน 290 ล้านบาทให้ บมจ.ช.การช่าง

รฟม.ขอชี้แจงว่า การแต่งตั้งประธานกรรมการคัดเลือก เอกชนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. เป็นการพิจารณาจากผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ในอดีตจะพิจารณาแต่งตั้งรองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง และด้านกลยุทธ์และแผน เป็นประธานสลับหมุนเวียนกันตามความเหมาะสมและสายงานที่รับผิดชอบในแต่ละโครงการ ซึ่งการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน รฟม. ได้เคยตั้งประธานกรรมการเป็นทั้งรองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการและรองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง ซึ่งรองผู้ว่าการทั้งสองตำแหน่งนั้นมีภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถของโครงการ

สำหรับกรณีสั่งงานเพิ่มเติมให้ผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 (บมจ.ช.การช่าง) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย เป็นเงิน 290 ล้านบาท นั้น สตง.มีหนังสือขอให้ รฟม.พิจารณาทบทวนให้เป็นไปตามข้อสัญญาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการ รฟม.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบ ข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นการดำเนินการออกคำสั่งงานเพิ่มเติมที่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อสัญญา และ ได้แจ้งผลการพิจารณายืนยันความถูกต้องให้สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบตั้งแต่ปี 2558 แล้ว

กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน