คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย : ขับช้าแล้ววิ่งเลนขวาสุด

ขับช้าแล้ววิ่งเลนขวาสุด – ถึง น.ส.พ.ข่าวสด

ปัญหาบนท้องถนน ที่มีคนทะเลาะต่อยตีกันบ่อยๆ จากการ กระทบกระทั่งกันในการขับขี่รถ คงมีสาเหตุหลายอย่าง แต่ที่พบเห็นอยู่เรื่องหนึ่งคือ บนเส้นทางสายใหญ่ๆ เช่น มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์ ถนนวงแหวนข้ามเมือง ซึ่งทางการควบคุมความเร็วรถ ไม่ให้วิ่งเกิน 120 ก.ม.ต่อชั่วโมง

บางสายก็ขึ้นป้ายไม่เกิน 80 หรือ 90 ก.ม. มักมีรถที่ไม่เข้าใจเรื่อง กติกามารยาท คือ ไปวิ่งเลนขวาสุด แต่ใช้ความเร็วต่ำ อาจจะยึดตามป้ายเตือน ห้ามเกิน 120 ก.ม. หรือต่ำกว่านั้น

ทั้งที่ถนนเหล่านี้มีเลนมากถึง 4 เลน ถ้าเข้าใจเรื่องมารยาทก็ควรจะไป ขับอย่างไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนด ในเลน กลางหรือเลนซ้าย เพราะเลนขวาสุดนั้น ควรให้รถที่จำเป็น ต้องใช้ความเร็ว หรือจังหวะเร่งเครื่องแซง รถที่แล่นช้าแล้ว อยู่เลนขวานี่แหละ เป็นชนวนการวิวาทบนท้องถนนได้ อย่างหนึ่ง

ขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน

ตอบ คุณขี่เก๋งอย่าลืมเกวียน

ความคิดเห็นของคุณก็น่าคิด หวังว่าผู้ขับขี่รถยนต์ทั้งหลายจะได้นำไปพิจารณา

 

ข้อสงสัยคดีน้องชมพู่ – เรียน บ.ก. ที่เคารพ

กว่า 50 วันคดีเสียชีวิตของน้องชมพู่ ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ เพราะดีเอ็นเอไม่มีอะไรเลย ทั้งๆ ที่ถูกตั้งความหวังไว้กับดีเอ็นเอ ทุกๆ วันก็จะมีแต่รอผลดีเอ็นเอ ที่ต้องใช้เวลาตรวจ 45 วันแต่เมื่อผ่านไป 50 วัน ก็คว้าน้ำเหลว เพราะไม่พบอะไรเลย

ทั้งๆ ที่นิติวิทยาศาสตร์มิได้มีเฉพาะดีเอ็นเอเท่านั้น พอจะมีความรู้ในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์และอาชญาวิทยา ขอตั้งคำถามที่อาจจะมีประโยชน์กับการเริ่มต้นสืบสวนสอบใหม่ดังนี้

1. ทำไมไม่นำผู้ต้องสงสัยและพยานสำคัญ เช่นพยาน ที่ยืนยันว่า “มีการย้ายหลักฐานพยาน รถแบ๊กโฮเด็กเล่น จากบ้านน้องชมพู่ที่พยานยืนยันว่าพบที่บ้านชมพู่ในวันที่ 11 พ.ค. ทำไมจึงย้ายที่ไปบนเขาได้ และผู้ต้องหาคดีอนาจาร ที่ให้การแตกต่างกันในเรื่องสถานที่ ทั้งนี้ดูเหมือนว่าตำรวจจะเชื่อถือ แต่เทคนิคการสอบสวนโบราณ ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้เครื่องจับเท็จ

นอกจากนั้นยังปล่อยให้ความเห็นของ พยาน ร่างทรง นิมิต หรือความเห็นของทั้งพระ หมอทำ กดดันความเชื่อของพยาน ดูเหมือนว่าการเรียกประชาชนในหมู่บ้าน สองร้อยกว่าคนสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเชื่อว่าจะกดดัน เพื่อให้ความจริงปรากฏจะยิ่งทำให้สับสนแบบ “มากหมอ มากความ”

2. ทำไมไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่เชื่อว่าคนในหมู่ส่วนใหญ่จะมีกันทุกคน มาใช้เป็นหลักฐาน เพราะวิธีการย้ำถามพยานและผู้ต้องสงสัยในเรื่องเวลาและสถานที่นั้นน่าจะมีผลประโยชน์น้อยกว่าการยืนยันด้วย “จีพีเอส”

3. เมื่อเกิดคดีฆาตกรรม ผู้ต้องสงสัยแรกก็คือ ผู้ที่อยู่กับผู้เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย แต่ดูเหมือนว่าตำรวจจะมองข้าม

4. ประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือสาเหตุการเสียชีวิต เวลาที่เสียชีวิต เพราะดูเหมือนตำรวจจะปักใจเชื่อมั่นว่าฆาตกรรมแบกน้องชมพู่ (ร่างที่เสียชีวิตไปแล้วหรือยังมีชีวิต) ขึ้นเขา

5. ทำไมไม่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ที่สามารถตรวจสอบภาพสถานที่ในเวลาที่น้องชมพู่หายไป

ตากระท้อน

ตอบ ตากระท้อน

คำถามของคุณน่าสนใจทีเดียว แสดงว่ารอบรู้เป็นนักสืบอยู่ในตัว แต่คดีนี้มีพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผบ.ตร. ที่มีประสบการณ์สูง มีเทคนิคทันสมัย แถมมีทีมจากบก.สืบสวนนครบาล ที่นับว่าทันสมัยไฮเทค ไปร่วมคลี่คลายคดีด้วย เชื่อว่าหลายข้อที่คุณกล่าวมา ตำรวจชุดนี้คงจะไม่มองข้าม เพียงแต่อาจมีข้อจำกัด เช่น อยู่กลางป่า ไม่มีสัญญาณการสื่อสาร ไม่มีกล้องวงจรปิด อะไรเหล่านี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน