จากนกพิราบถึงแฮมทาโร่ – เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

จากนกพิราบถึงแฮมทาโร่ – ผมรับราชการครูอยู่สถานศึกษาอาชีวะแห่งหนึ่ง จู่ๆ ก็มีหนังสือมาจากสถานีตำรวจความว่าจะขอเข้ามาดูแลนักเรียน-นักศึกษาว่าประพฤติตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร และอีก สองสามวันก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร 3 นาย เข้ามาพูดคุยกับผมในสถานศึกษาว่า มีกลุ่มนักเรียน-นักศึกษามีความฝักใฝ่ รวมทั้งจัดชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ผมในฐานะครูรู้สึกอึดอัด เพราะมันเป็นภาวะแฝงเร้นและไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงตอบไปแบบเสียไม่ได้ เพราะสังคมนี้อนุญาตให้คิดด้านเดียว จึงขอนำเสนอฝ่ายบ้านเมือง ผ่านท่าน บ.ก.เป็นข้อๆ ดังนี้

1.เนื้อจดหมายกล่าวถึง จะมาสอดส่องดูแลว่านักเรียนประพฤติตามกฎหมายหรือไม่นั้น ผมถามว่ากฎหมายอะไรข้อหาอะไร คือถ้าเขาเหล่านั้นกระทำผิดกฎหมาย ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการทันทีได้อยู่แล้ว ตรงนี้คือภาวะแฝงเร้นที่มีนัยยะทางการเมืองใช่หรือไม่ครับ

2.เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามว่า นักเรียนนักศึกษาฝักใฝ่ หรือจะจัดการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ทำไมต้องมาสอบถาม ถ้าเขาจัดมันผิดกฎหมายพวกคุณก็ว่ากันไป แต่ขณะเดียวกันผมฟังข่าวว่าทางรัฐบาลบอกว่าสามารถทำได้ตามกรอบกฎหมายไม่ห้าม นี่มันเป็นการย้อนแย้งกันระหว่างฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติการ มันเกิดคำถามว่า รัฐบาลเล่นอะไรอยู่

3.ในฐานะที่อาชีพผมใกล้ชิดกับนักเรียน ข้อมูลประกอบที่เกี่ยวเนื่อง เช่นผมคิดว่านักเรียน-นักศึกษาเขาเข้าใจอะไรดีต่อปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ หลายคนที่ผมไปเยี่ยมบ้านเขา พ่อแม่ครอบครัวเขาอยู่อย่างแร้นแค้น ตกงานมากมายในทุกวันนี้ เห็นหน้าครูบางครั้งร้องห่มร้องไห้ไม่มีอะไรจะกิน จะเป็นเพราะผลกระทบด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจก็แล้วแต่ นักเรียนนักศึกษาบางส่วนปรับทุกข์กับผมว่าเขาเล่นตามกติกา ตามระบบ เขาใช้สิทธิเลือกตั้งพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่เขาชอบ แต่สุดท้ายเขาไม่สามารถใช้สิทธิผ่านตัวแทนต่อพรรคการเมืองในไอดอลเขาได้ เพราะถูกยุบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย หรือกติกาของใครก็ไม่ทราบ มันเชื่อมโยงกับภาวะทางครอบครัว การครองชีพ หรือบางส่วนต้องหยุดเรียนกลางคัน นั่นคือความคับข้องใจ คับแค้นใจ ปัญหาเหล่านี้ทางฝ่ายบ้านเมืองได้คิดเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่ทำไมนักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุมหรือไม่?

4.ผมคิดว่าที่นักเรียน-นักศึกษาออกมาชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน 3.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตรงนี้รัฐบาลควรมีคำตอบ หรือต้องอธิบาย ไม่ใช่จะมาสอดส่อง

5.ในฐานะที่ผมเป็นครู ต่อการที่คุณตำรวจเข้ามาหาข่าวในสถานศึกษา โดยมีพื้นฐานความคิดว่า เด็กคิดไม่เป็น เด็กคิดต่างจากคุณ คือแตกต่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นตัวแทนโครงสร้างอำนาจใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองนั้น คุณคิดว่ามันผิด แล้วคุณรู้หรือไม่ ผมครูผู้สอนคิดอย่างไร คิดเหมือนคุณไหม นี่คือความแตกต่างทางความคิด ที่จะต้องจัดการด้วยกติกาการเมืองที่ยุติธรรมไม่ใช่หรือ มันคือภาพสะท้อนปัญหาหลักตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 2563 คือปัญหา “ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่” และใช้กลไกการปกครอง กลไกรัฐธรรมนูญที่ บิดเบี้ยว

6.ต่อการมาเยือนสถานศึกษาของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ผมว่าเราควรหาทางออกไม่ดีกว่าหรือครับ ทางออกคือช่องทางปกติการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางออกประเภทที่ทำกันอย่างทุกวันนี้คือ มีจดหมายมาถึงสถานศึกษา มาสอดส่อง มาสอบถามครูตามที่ผมกล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้ายังยืนยันว่าจะเอาแบบนี้จุดจบมันก็คงจะเห็นรางๆ อยู่ล่ะครับ “จากวันฆ่านกพิราบ ถึงวันฆ่าแฮมทาโร่” ผมถามว่า “จะกระทำกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือ”

ขอแสดงความนับถือ

ครูไทย ใจวังเวง

ตอบ ครูไทย

สิ่งที่คุณอธิบายมากระชับชัดเจน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองและรัฐบาลควรอ่านให้ละเอียด แล้วจะเข้าใจว่าทำไมเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวและควรแก้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน