คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เพิ่มอำนาจ? – การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครของผู้นำรัฐบาล ตอกย้ำถึงความต้องการใช้อำนาจที่มากและสูงขึ้นอย่างง่ายดาย

ทั้งที่ยังไม่ปรากฏว่าการชุมนุมของกลุ่มมวลชนและเยาวชนใช้ความรุนแรง หรือมีอาวุธหนักในครอบครองเพื่อจะสร้างสถานการณ์ร้ายแรง

การนำกฎหมายสำหรับช่วงเวลาไม่ปกติมาใช้กับช่วงเวลาปกติอาจสุ่มเสี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของการยั่วยุ

เพราะย่อมรู้ว่าอะไรก็ตามที่เกินกว่าเหตุจะถูกต่อต้านจากกลุ่มคนจำนวนมากที่กำลังเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียม

การใช้อำนาจที่น่าคลางแคลงใจดังกล่าวคงต้องเป็นกรณีศึกษาถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมา

เหมือนกับยุครัฐประหารที่หัวหน้าคสช. ประกาศใช้มาตรา 44 อันเป็นอำนาจเด็ดขาดมากถึง 200 ฉบับ

บางฉบับส่งผลลบมากกว่าบวก และเกิดปัญหายุ่งยากซับซ้อนภายหลัง เช่น กรณีเหมืองทอง อัครา อีกหลายฉบับเป็นข้อครหาว่าสวนทางกับวิถีทางประชาธิปไตย

สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ที่เพิ่งประกาศใช้นี้ นอกจากถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงคัดค้าน และเรียกร้องให้ยุติแล้ว

ยังมีเสียงต่อต้านกระหึ่มมาจากมวลชนที่ยังคงชุมนุมต่อในย่านธุรกิจใจกลางกรุงอย่างชัดเจน

สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ต้องรีบทบทวนตนเองอย่างเร่งด่วนคือ เมื่อตนเองมาจากการเลือกตั้ง ต้องไม่เลือกใช้อำนาจที่เหมือนรัฐบาลรัฐประหาร

ต้องไม่ฉวยใช้กฎหมายกล่าวหาประชาชนที่เห็นต่างจากตนเองอย่างไม่ระมัดระวัง

ต้องอำนวยความสะดวกให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยทันที เพื่อให้ตัวแทนประชาชนหาทางออกร่วมกันด้วยกลไกทางการเมือง

ต้องเร่งสำรวจปฏิกิริยาจากรัฐบาลนานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ว่ายังมองประเทศไทยเป็นแนวร่วมและยึดถืออุดมการณ์เดียวกันหรือไม่

การกล่าวอ้างประโยคเดิมๆ ว่าไทยต้องมีประชาธิปไตยแบบไทยๆ นั้นไม่เป็นที่ยอมรับในทางสากล

จะไปอธิบายประเทศอื่นว่า เราเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าการปฏิบัติไม่สอดคล้องกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน