คอลัมน์ บก.ตอบจดหมาย

ขยะริมทางที่อุทยานฯเขาค้อ – เรียน บ.ก.

ฤดูการท่องเที่ยวใน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือ มีการนำขยะใส่ถุงดำไปทิ้งสองข้างทางถนนสายบุ่งน้ำเต้า-เขาค้อ ในเขตพื้นที่ อ.เขาค้อ จำนวนมาก ถนนเส้นดังกล่าวเป็นทางเชื่อมระหว่าง ต.บุ่งน้ำเต้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ กับอำเภอเขาค้อ ซึ่งเป็นเส้นทางลัดสู่อำเภอเขาค้อ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวใช้เส้นทางนี้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงรถติด แต่ในช่วงกลางคืนไม่ค่อยมีรถผ่านเนื่องจากเป็นเส้นทางที่เปลี่ยวและไม่มีไฟส่องสว่าง ช่วงระยะทางระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 3-10 มีถุงดำใส่ขยะทั้งขยะเปียกและขยะแห้ง รวมทั้งเศษขยะถุงพลาสติก ถ้วยโฟม กล่องโฟม ขวดเครื่องดื่มต่างๆ ทิ้งอยู่ตามข้างทางเป็นจำนวนมาก บางถุงก็เป็นสิ่งของเน่าเสีย มีแมลงวันตอม รวมทั้งส่งกลิ่นเหม็น และนอกจากนั้นยังทิ้งลงไปในร่องน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่จะไหลไปสู่น้ำตกธารทิพย์แหล่งท่องเที่ยวของ ต.บุ่งน้ำเต้า ภายในอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ถุงขยะสีดำมีทั้งเก่าและใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการนำมาทิ้งเป็นระยะเวลานานแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ฝากบอกว่า อย่าเห็นแก่ตัว แม้ไม่รู้ว่าใครเป็นคนนำมาทิ้ง แต่ทำให้เกิดความสกปรก ไม่สวยงาม ทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จึงอยากจะขอให้เจ้าหน้าที่ติดตามตัวคนทิ้งมาลงโทษให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นถนนเส้นนี้ก็จะมีขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผ่านมาเห็น

ตอบ คุณผ่านมาเห็น

อ่านข้อร้องเรียนของคุณแล้วเศร้าใจ เพราะพื้นที่อุทยานนั้นหมายถึงธรรมชาติที่สวยงามสมบูรณ์ การท่องเที่ยวป่าเขาเช่นนี้ ต้องรู้ไว้เลยว่า ไม่มีรถเทศบาลมาคอยเก็บขยะเหมือนในเมือง ทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ต้องช่วยกัน ไม่สร้างขยะ อาหารการกินต้องไม่ใช่ประเภทที่จะก่อให้เกิดขยะ หรือถ้ามีขยะ ก็ต้องจัดการให้ถูกต้อง ขยะเปียกเศษอาหารฝังดินได้ ส่วนที่เป็นขยะแห้ง ถุง โฟม ขวด ต้องนำออกมาไปทิ้งในเมืองโน่น ไม่ใช่โยนลงข้างทาง ทำให้ธรรมชาติเสียหาย สัตว์ป่าล้มตายได้

 

ห้ามชาวนาเผาแล้วมีทางออกไหม – ถึง น.ส.พ.ข่าวสด

ชาวนาในจังหวัดอ่างทองอยากถ่ายทอดความรู้สึกส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะสวนกับกระแสเรื่องฝุ่นควัน กรณีที่ราชการมีหนังสือแจ้งให้เลิกเผานา เนื่องจากเป็นการสร้างมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ส่งผลทำให้ได้รับความเดือดร้อนจากต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่คุ้มกับที่ทางราชการให้เงินช่วยเหลือในการพัฒนาพันธุ์ข้าวและประกันราคาข้าว เนื่องจากหลังเก็บเกี่ยวแล้วต้องจ้างรถมาอัดฟางข้าวในราคาก้อนละ 15 บาท ส่วนตอซังข้าวก็ต้องจ้างรถมาไถกลบชั่วโมงละ 800 บาท ฟางที่อัดก้อนก็ขายไม่ได้ไม่มีคนรับซื้อ ต้องนำมากองทิ้งไว้ที่ริมคันนาให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ มีหนูศัตรูของนาข้าวและสัตว์มีพิษเข้าไปอยู่อาศัย ส่วนต้นตาลที่ขึ้นอยู่ริมคันนา ใบแห้งชาวนาก็ไม่กล้าเผาเพราะกลัวความผิด จำต้องปล่อยให้แห้งคาต้น ย่อยสลายตามธรรมชาติ จะขึ้นต้นตาลไปเก็บลูกตาลและน้ำจากต้นตาลก็ลำบาก ทุกวันนี้ทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น เสี่ยงต่อการขาดทุนทำให้ชาวนาในพื้นที่กว่า 50 ไร่ ได้รับความเดือดร้อน อยากให้ทางการช่วยหาทางออกให้กับชาวนาบ้างว่า ควรทำอย่างไรกับปัญหานี้

กนก

ตอบ คุณกนก

เสียงสะท้อนนี้หน่วยงานราชการต้องรับฟัง ต้องหาทางช่วยเหลือ แน่นอนการเผาสร้างฝุ่นควัน แต่ไม่ควรเน้นที่ชาวนาชาวไร่ธรรมดา ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรรมรายใหญ่ระดับนายทุน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน