บก.ตอบจดหมาย

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ตามที่คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ให้นโยบายลดภาระหนี้ ด้วยการให้กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์เช่าที่ดินการรถไฟฯ มักกะสัน จำนวน 497 ไร่ อายุสัญญาเช่า 99 ปี มูลค่าการเช่าประมาณ 63,000 ล้านบาท หรือโครงการที่เรียกว่า “เอาที่ดินแลกหนี้” โดยจะต้องส่งมอบที่ดินให้กรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ก็จะนำที่ดินของการรถไฟฯ ไปทำโครงการหาประโยชน์อีกทอดหนึ่ง กล่าวหาบริหารงานล้มเหลว เป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับการรถไฟฯ ขอชี้แจง ดังนี้

1.การบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ส่งคนของรัฐบาลมาเป็นบอร์ดกำกับดูแลการบริหาร คัดเลือกแต่งตั้งผู้ว่าการการรถไฟฯ มาเป็นผู้บริหารงานจะเป็นไปด้วยดีหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับรัฐบาล

2.หนี้ของการรถไฟฯ ทั้งหมดยังไม่มีการจำแนกให้ชัดเจน เช่น หนี้ที่รัฐต้องชดเชยตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย 2494 หนี้ที่รัฐกำหนดให้ขาดทุน เช่นรัฐบาลไม่ให้ขึ้นค่าโดยสารมากกว่า 30 ปี การรถไฟฯ ต้องให้บริการโดยสารต่ำทุนประมาณ 2 บาทต่อหนึ่งคนต่อหนึ่งกิโลเมตร ตลอดเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านที่ต้องแบกรับภาระเป็นจำนวนเงินมหาศาล หนี้จากรัฐให้ใช้บริการรถไฟฟรี หนี้จากโครงการของรัฐให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของชาติในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หนี้ที่เกิดจากโครงการที่รัฐเห็นชอบให้ดำเนินการแต่ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนและจากทรัพย์สินเสื่อมราคาหรืออื่นๆ และตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 43 การรถไฟฯ จะไม่มีหนี้เพราะกฎหมายกำหนด

3. ที่ดินรถไฟมักกะสันซึ่งเป็นที่ดินได้มาก่อนปีพ.ศ.2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 วัตถุประสงค์หรือเจตนาให้ใช้ในกิจการรถไฟซึ่งตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ ได้บัญญัติหน้าที่ภารกิจของการรถไฟฯ ไว้ชัดเจน การนำที่ดินไปใช้อย่างอื่นจึงเป็นการปฏิบัติที่มิชอบที่หน่วยงานของรัฐปฏิบัติต่อประชาชน

4.ที่ดินของการรถไฟฯ เป็นที่ต้องการของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจรัฐนำไปสร้างประโยชน์ส่วนรวมบ้าง ส่วนตนบ้าง ทำให้การรถไฟฯ ต้องสูญเสียที่ดินแปลงใหญ่บ้าง แปลงเล็กบ้าง ตลอดมา

5. การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปการ เป็นองค์การกึ่งรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคานถ่วงดุลกับภาคเอกชน รับใช้ประชาชนและสังคมโดยรวม เป็นกิจการที่ส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางภาคเศรษฐกิจ เป็นองค์กรที่มิได้จัดตั้งมาเพื่อหวังผลกำไร เป็นไปตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494

6.การให้เช่าที่ดินจึงเป็นการเปลี่ยนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในที่ดินที่ได้มาจากประชาชน เป็นการส่อเจตนาเปลี่ยนผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยรัฐไปเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยเอกชน

7.เท่าที่รับทราบการให้เช่าที่ดินอายุสัญญาเช่า 99 ปี ยังไม่มีการตรากฎหมายออกมารองรับ เพราะที่ดินการรถไฟฯ ไม่ได้อยู่ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐ

โครงการของรัฐที่ถูกกำหนดจากส่วนบน ผู้บริหาร นักการเมือง ระบบราชการ ประสบความล้มเหลวจำนวนมาก สร้างปัญหากับประเทศชาติและประชาชน โครงการนี้ก็เช่นเดียวกัน ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ขอให้พิจารณาอย่างรอบด้านในการบริหารจัดการที่ดินการรถไฟฯ มักกะสัน และที่ดินอื่นๆ ของการรถไฟฯ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และการรถไฟฯ ให้รัฐบาลบริหารอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ปราศจากข้อสงสัยจากประชาชน

ขอแสดงความนับถือ

นายอินทร์ แย้มบริบูรณ์

เลขาธิการประชาคมคัดค้านการให้เช่าที่ดินมักกะสัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน