บก.ตอบจดหมาย

เรียน บรรณาธิการข่าวสด

ผมได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับบริษัทประมูลงานที่เป็นข่าวฮือฮากันช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานั้น ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านก็ให้ คำรับรองว่าทุกอย่างโปร่งใส ประมูลงานอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องการใช้ที่อยู่ไปจดทะเบียนเป็นที่ตั้งของบริษัทรับเหมา หลายคนบอกว่าไม่ถูกต้อง ผิดระเบียบ พบว่าการประมูลงานที่ได้มานั้นเป็นการประมูลแบบอีอ๊อกชั่น ทางผู้ใหญ่ จึงกล้ารับรองว่าได้งานมาด้วยความโปร่งใส ในฐานะที่ผมเคยอยู่ ในวงการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ผมเชื่อว่าถึงแม้การประมูลแบบ อีอ๊อกชั่นจะมองดูว่า ถูกต้อง โปร่งใส แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตรงกันข้ามครับ มาตรวจสอบดูกัน

1. เริ่มต้นเราต้องดูกันที่ บริษัทที่มาซื้อแบบงาน (ซื้อซอง) มีกี่บริษัท แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ ก.บริษัทที่ต้องการทำงานนี้ 100% ข.บริษัทที่มาซื้อไม่ต้องการทำงาน แต่ต้องการมากินฮั้ว ค.บริษัทที่มาซื้อไม่ต้องทำงานนี้ แต่ต้องการบุญคุณ เพื่องานของตัวเองในโอกาสหน้า (แต่ก็ได้รับเงินค่าฮั้วด้วย) ง.บริษัทคู่เทียบของบริษัทที่ต้องการทำงาน

2. ถึงกำหนดเวลายื่นซอง บริษัทไหนที่ตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำหนด ก็จะยื่นซองพร้อมหลักประกันค้ำซอง หลังจากยื่นซองเรียบร้อยแล้ว ตรงนี้แหละบริษัทต่างๆ ก็จะได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากบุคคลซึ่งรู้จักกันดีในวงการประมูล คือ “ผู้จัดฮั้ว” จะโทร.มาแจ้งว่า งานที่ยื่นซองไปนั้น เป็นของบริษัทนั้นบริษัทนี้ ยินดีที่จะจ่ายค่าฮั้วให้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็โอเคอยู่แล้ว แต่ถ้ามีบริษัทไหนยังไม่ตกลง เจ้าของบริษัทที่จะทำงานก็จะโทร.มาหาโดยตรง ถ้าเจออย่างบริษัทที่มีสายสัมพันธ์โดยตรงกับคนใหญ่คนโต ใครบ้างจะไม่ยอม เรื่องนี้ในวงการผู้รับเหมาเขารู้กันดีโดยเฉพาะในต่างจังหวัด ผู้รับเหมาก็รู้จักกันทั้งนั้น อัตราที่จ่ายค่าฮั้ว ปกติจ่ายกันที่ 5% ของมูลค่างาน (ราคากลาง) หารเฉลี่ยด้วยจำนวนบริษัทที่เข้าประมูล เช่นงาน 20 ล้าน = 1 ล้านบาท ยื่นซอง 5 บริษัทก็รับไปรายละ 2 แสนบาท ดีกว่าอยู่เปล่าๆ บางรายอาจจะตกลงกันโดยไม่ต้องมายื่นซองก็มี ประหยัดค่าธรรมเนียมค้ำไป แต่จะต้องมีบริษัทเข้ามาอย่างน้อย 3-4 บริษัท เพื่อเข้ามาเคาะราคาเป็นพิธี ให้ดูเสมือนว่ามีการแข่งขันกันจริง โดยจะมีการนัดแนะการเคาะราคาว่าจำนวนเท่าใด ส่วนใหญ่พวกที่รับฮั้วไปแล้วก็จะเคาะกันเพียงครั้งเดียวตามที่หน่วยงานกำหนด ส่วนบริษัทที่ต้องการทำงานก็จะเคาะให้ต่ำกว่าเล็กน้อยหรืออาจจะมีบริษัทคู่เทียบของตนเอง เข้ามาเคาะราคาแข่งกันนิดหน่อย เพื่อไม่ให้น่าเกลียด เป็นอันเสร็จพิธี ใครดูไม่รู้หรอก แม้แต่สตง.ก็ไม่รู้ ที่ผ่านมาผมไปเคาะราคาก็เคยเจอสตง.บ่อยๆ ในวันเคาะ แต่ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันหรอกครับ

3. อัตราการจ่ายค่าฮั้ว ปกติ 5% จ่ายหน่วยงานอีก 5% เมื่อเสร็จงาน แต่ในต่างจังหวัดหรือบางจังหวัดอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็เป็นได้

4. จะมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สามารถชี้ชัดว่ามีการฮั้วราคากันก็คือ “รีพอร์ตรายงานเวลาการเคาะราคา” ซึ่งทางบริษัทกลางจะมี และจะปรินต์ให้หน่วยงานที่ประมูล เอกสารชิ้นนี้จะปรากฏรายละเอียดการเคาะราคาว่าบริษัทไหนเคาะราคาเท่าไร จำนวนเท่าไหร่ เวลาเท่าไหร่ เราก็สามารถรู้ทันทีว่ามีการฮั้วกันอย่างไร

5. จากปรากฏเป็นข่าวว่า ราคาที่เคาะออกมาบางงานห่างกันเพียง 1 กว่าบาท นั้น ก็เป็นที่ชัดเจน ไม่มีที่ไหนหรอกครับเข้ามาประมูล และมาเคาะราคาเพียงครั้งเดียว และก็เลิกกันไป แล้วจะมาเข้าประมูลให้เสียค่าเงิน ค่าซื้อซอง ค่าธรรมเนียม ค้ำประกันซอง กันทำไม มีหลายงานที่เคาะราคาแบบอีอ๊อกชั่น ตกลงกันไม่ได้เรียกว่า”ฮั้วแตก” จะมีการเคาะราคาแข่งกัน ลดกันเป็นแสน บางงานสู้เป็นล้านก็มี นี่งานสิบล้าน ยี่สิบล้าน ห่างกันเพียงพันกว่าไม่ผิดปกติก็บ้าแล้ว

6. ถ้าเราสามารถหารายชื่อบริษัทที่ร่วมประมูลงานกับบริษัทแห่งนี้ได้ ทุกงานที่ประมูลได้ เราจะเห็นได้ชัดว่ามีบริษัทที่เข้าประมูลงานแข่งซ้ำๆ กันทั้งนั้น

7. หลักฐานที่ควรตรวจสอบอีกอย่างคือ เส้นทางการเงิน ค่าฮั้ว ว่ามีการจ่ายกันอย่างไร ส่วนใหญ่จะจ่ายเป็นเงินสด แต่เงินเยอะๆ อาจจะมีการโอนเข้าบัญชีส่วนตัวกันก็ได้ จากประสบการณ์และข้อมูลที่ผมเล่ามาทั้งหมด ผมเชื่อว่าการได้งานมาของบริษัทที่เป็นข่าวอยู่นี้ ไม่โปร่งใสอย่างแน่นอน น่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้นะ ประชาชนจะได้ตาสว่าง ไม่ใช่ว่าตนเองไม่เคยทุจริต มีแต่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นที่ทุจริต

8. ผมเคยไปประมูลนอกจังหวัดที่ผมอยู่ ปรากฏว่าวันยื่นซองมีนักเลงมาประกบ บอกว่านี่เป็นงานของผู้ใหญ่มีบริษัทครบแล้ว ไม่ต้องยื่นซอง ผมไม่ยอมผลสุดท้ายยอมจ่ายค่าค้ำซอง, ค่าแบบ, ค่าน้ำมันให้ เจออยู่ 2-3 จังหวัด ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ฉะนั้นงานของเขาก็เป็นของเขา งานทุกงานที่ประมูลได้ฮั้วกันทุกโครงการครับ และยิ่งนามสกุลดัง ใครๆ ก็เกรงบารมีกันทั้งนั้น

จากอดีตผู้รับเหมา ผู้หวังดี และหมดตัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน