ช่วยเหมือนไม่ช่วย-ค่าไฟโควิด

เรียน บ.ก.

ลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ถือว่าเป็นการเยียวยาให้กับประชาชน แต่ขอเสนอเรื่องการใช้บิลแจ้งค่าไฟฟ้าว่า ควรที่จะใช้ใบแจ้งค่าไฟฟ้าของเดือนอื่นๆ เช่น มกราคม กุมภาพันธ์ หรือ พฤศจิกายน ธันวาคม ดีกว่าจะใช้ใบแจ้งค่าไฟฟ้าของเดือนเมษายนเป็นตัวชี้ มีเหตุผลดังนี้คือ เดือนเมษายนเป็นเดือนที่อากาศร้อน แม้ว่าเมษายนในปีนี้ฝนตกก็ตาม แต่อากาศร้อนจัดมาก แต่ละบ้านทั้งเปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลมกันมาก ค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าทุกเดือน ประจวบกับเมษายนครั้งนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านกันมากขึ้นเนื่องจาก โควิดระลอก 3 กำลังระบาด ได้โปรดเถอะยังมีเดือนอื่นตั้ง 11 เดือน ทำไมต้องเดือนเมษาฯ ค่าไฟสูงจริงๆ นะเดือนนี้

พิรุณ

ตอบ คุณพิรุณ

นับว่ามาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อเยียวยาประชาชนด้วยพิษโควิดรอบนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงว่า เยียวยาเหมือนไม่เยียวยา ดังประเด็นที่คุณยกมาพูดถึงนั่นแหละว่าเหตุใดจึงเอาบิลค่าไฟฟ้าเดือนเมษายนเป็นตัวเทียบ ทั้งที่เป็นเดือนที่อากาศร้อนสุด ค่าไฟของทุกบ้านพุ่งสูงสุด ที่สำคัญเป็นช่วงเวิร์กฟรอมโฮมอีกด้วย จึงยิ่งไปกันใหญ่

 

จับตาการปรับมาตรฐานสุรากลั่น

เรียน บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวสด

อ่านข่าวเรื่องสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เผยว่า สมอ.อยู่ระหว่างพิจารณายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสุรากลั่น หรือ มอก.2088-2544 เป็นมาตรฐานบังคับ จากปัจจุบันเป็นภาคสมัครใจ เนื่องจากมาตรฐานเดิมใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2544 อาจล้าสมัย ไม่ครอบคลุมและไม่สะท้อนกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ไทยมีวัตถุดิบจากสุรานำเข้าที่หลากหลายมากขึ้นและมากกว่าผู้ผลิตในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมไว้ โดยมีสาระสำคัญว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้วกรมสรรพสามิตเพิ่มปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ ในสุรากลั่นจาก 420 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็น 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร เหตุผลก็คือ “ร่างกายทนได้” นอกจากเมทิลแอลกอฮอล์ แล้วกรมสรรพสามิตยังได้เพิ่มปริมาณสารในสุราชนิดอื่นๆ เช่น ไวน์, บรั่นดี ฯลฯ ซึ่งก็คงใช้เหตุผลเดียวกันว่า “ร่างกายทนได้”

เรื่องนี้ต้องขอวิสัชนาว่า กรมสรรพสามิตมีเหตุผลอื่นๆ นอกจากร่างกายทนได้หรือไม่อย่างไร เพราะดูเหมือนว่าเหตุผลของกรมสรรพสามิตนั้นเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตสุราเพิ่มกำไรให้บริษัท เพราะค่าใช้จ่ายในการกำจัดสารพิษในสุรากลั่นนั้นสูงมากขึ้นตามปริมาณการกำจัดสารพิษที่ต้องกำจัดออก เรื่องนี้ก็ต้องย้อนถามว่า “ผ่านคณะรัฐมนตรี” มาได้อย่างไร กระทรวงสาธารณสุขไม่คัดค้านเลยหรือ ดูเหมือนจะคล้ายกับกรณียกเลิกสารพิษที่ใช้กำจัดศัตรูพืชที่เป็นการตัดบัวแต่เหลือใย ขอคัดค้านการเพิ่มปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ในสุรากลั่น และเพิ่มสารพิษชนิดอื่นๆ ในสุราและเมรัยประเภทอื่น เพราะเป็นการเพิ่มการทำลายสุขภาพ สร้างปัญหาสาธารณสุข เพิ่มรายจ่ายในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับเหตุผลที่กรมสรรพสามิตใช้ในการเพิ่มปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์นั้นขอถามว่า ใครนะเป็นเจ้าของไอเดีย

ทอมแคท

ตอบ ทอมแคท

พูดถึงปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ในสุราก็คงเป็นอย่างที่คุณกล่าวมา ถ้าเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มากเกินไป มีผลร้ายทำลายสุขภาพอย่างแน่นอน เห็นด้วยอย่างมากว่ารัฐบาลต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้รอบคอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน