คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย

ซื้อโดรนใต้น้ำดีกว่าเรือดำน้ำ / เรื่องด่างพร้อยในวงการศึกษา

ซื้อโดรนใต้น้ำดีกว่าเรือดำน้ำ

เรียน บ.ก.

หลายวันก่อนโฆษกกองทัพบก แถลงผลการปฏิบัติงานกองทัพบกประจำปี 2564 และแนวทางการพัฒนากองทัพบกตามระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2566 สรุปประมาณว่าต่อไปนี้มีแนวทางยกเลิกหรือลดจำนวนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ราคาสูงจากต่างประเทศให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศมาใช้มากขึ้นจะพยายามรักษาสภาพยุทโธปกรณ์ให้ใช้งานได้ดีที่สุด โดยเน้นการซ่อมบำรุงรักษาสิ่งอุปกรณ์นั้น เพื่อใช้งานได้ดีที่สุดและนานที่สุดเพื่อให้ใช้งานได้ แต่หากไม่สามารถรักษาได้ก็ซื้อจากต่างประเทศแต่เป็นจำนวนน้อย ถ้าในลักษณะเช่นนี้เรือดำน้ำที่ชะลอการจัดซื้อจากจีนลำที่ 2-3 นั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ให้ยกเลิกไปเลย เพราะ ตอนนี้วิวัฒนาการเทคโนโลยีล้ำยุคไปมากขึ้นแล้ว จากเรือดำน้ำตอนนี้มีโดรนใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเรือดำน้ำ อดใจรอสักนิดถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ไว้รอซื้อโดรนใต้น้ำที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเรือดำน้ำ ราคาถูกกว่าเรือดำน้ำ ไม่ต้องใช้กำลังพลเพราะไร้คนขับ ถ้ายังใช้เรือดำน้ำอยู่อาจจะ ถูกไล่ล่าจากศัตรูที่รุกล้ำน่านน้ำ ใช้โดรนใต้น้ำไล่ล่าเรือ ดำน้ำ

อาเล็ก

ตอบอาเล็ก

การจัดซื้อเรือดำน้ำที่คุณยกมากล่าวถึงนั้น เป็นงบประมาณของกองทัพเรือ ส่วนที่แถลงนั้นเป็นในส่วนของกองทัพบก แต่ทุกเหล่าทัพก็ควรจะยึดนโยบายลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ลง เนื่องจากงบประมาณของประเทศ จำเป็นต้องใช้ไปในเรื่องโควิด การฟื้นเศรษฐกิจ การพยุงชีวิตประชาชนที่ต้องตกงานเป็นจำนวนมาก กว่าจะฟื้นต้องใช้เวลาหลายปี อีกทั้งควรวางแผนการจัดซื้อใหม่ อย่างเช่นที่คุณกล่าวมา ซื้อโดรนใต้น้ำ ทดแทนเรือดำน้ำจะดีกว่า

เรื่องด่างพร้อยในวงการศึกษา

เรียน บ.ก.ข่าวสด

ฉาวโฉ่เรื่องถอดถอน 54 ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ (ศ.), รองศาสตราจารย์ (รศ.) และตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องยกเว้นการทูลเกล้าฯ เรื่องนี้สร้างความด่างพร้อยให้วงการศึกษา เพราะเมื่อตำแหน่งวิชาการยังมีทุจริต แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ (รีดเดอร์) ปลอม เมื่อครูบาอาจารย์ไม่เที่ยงตรงแล้วจะสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีได้อย่างไร ตำแหน่งวิชาการของแต่ละมหาวิทยาลัยมีเกณฑ์มาตรฐานแตกต่างกัน เดิมที่มหาวิทยาลัยยังอยู่ในระบบ บางมหาวิทยาลัยเกณฑ์การแต่งตั้งตำแหน่งวิชาการยากมากกว่าจะได้ตำแหน่งนั้นมา วันนี้เกณฑ์การแต่งตั้งตำแหน่งวิชาการหย่อนยานมาก ผลงานวิชาการที่นำเสนอออนไลน์ก็สามารถนำมานับเป็นผลงานได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะกรรมการก็แต่งตั้งแบบพวกใครพวกมัน ถึงขนาดปลอมลายมือผู้ทรงคุณวุฒิ จนเป็นเหตุให้มีการถอดถอน 54 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามเกียรติยศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการไม่กี่คนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของปลอม โดยเฉพาะถ้าผู้ขอรับการแต่งตั้งรู้จักกับผู้ทรงคุณวุฒิเป็นการส่วนตัว หรือมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน

นับถือ

เฒ่าทารก

ตอบเฒ่าทารก

เป็นเรื่องสะท้อนความตกต่ำของวงการวิชาการไทยจริงๆ แต่จะโทษเฉพาะคนหรือเฉพาะวงการคงไม่ได้ เราต้องยอมรับว่า เป็นทั่วทั้งระบบของสังคมไทย ความไร้มาตรฐานยิ่งกว่านี้ยังมี อย่างเช่น การร้องเรียนผู้มีอำนาจ แต่สุดท้ายก็รอดพ้นได้ด้วยเหตุผลการวินิจฉัยอันแสนพิสดาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน