ชาวนา”แม่สาว”โดนแย่งน้ำ

เรียน บ.ก.ข่าวสด

ปัญหาใหญ่ของชาวนาในพื้นที่ ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จำนวนพันกว่าครัวเรือน กำลังเดือดร้อนอย่างมาก น้ำไหลมาจากบนดอยเพื่อนำมาปลูกข้าวในนา ถูกแย่งจากกลุ่มนายทุนสวนส้ม โดยกลุ่มนายทุนสวนส้มต่อท่อพีวีซีขนาดใหญ่เข้าสู่สวน ชาวนาที่อยู่พื้นราบก็เดือดร้อน อย่างที่ห้วยแม่ฮ่าง ทำฝายในเขตอุทยานและการดักน้ำเข้าบล็อกปูนซึ่งไม่รู้ใครเป็นคนอนุญาต ทั้งๆ ที่น่าจะผิดกฎหมายอุทยาน แล้วใช้ท่อพีวีซีต่อน้ำจากบล็อกปูนส่งไปยังสวนส้มแต่ละสวน มีทั้งหมดกว่า 20 ท่อ ยังมีท่อที่ไม่ได้รวมอยู่ในบล็อกปูน คือต่อท่อจากแหล่งน้ำอื่นๆ ซึ่งรวมกันทั้งหมดประมาณ 55 ท่อ จากที่กำหนดไว้ให้มีเพียง 33 ท่อเท่านั้น

เคยร้องเรียนรัฐบาลและต่อสู้กันมานาน แต่ปัญหาก็ยัง ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อยากได้ความชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ทุกคนเป็นคนไทยต้องทำมาหากิน ดังนั้นควรหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันในสังคมได้ คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก กินส้มเป็นผลไม้

ด้วยนับถือ

หมูหวาน

ตอบ หมูหวาน

มีข่าวมาตลอดเรื่องการร้องเรียนนี้ ขนาดร้องถึงนายกรัฐมนตรี จนป่านนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปดูแลแก้ไข อย่าปล่อยให้เนิ่นนานจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ไปเลย

การจัดการน้ำเจ้าพระยา

ถึง หนังสือพิมพ์ข่าวสด

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลัก ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ชาวบ้านใช้น้ำของสายน้ำแห่งนี้ในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งการใช้ทางด้านการเกษตรของชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ภาคกลางหลายต่อหลายจังหวัด พอหมดหน้าฝนไม่ทันไร ก็เริ่มหน้าแล้ง และก็เริ่มมีปัญหาให้กับเกษตรกร ไม่สามารถนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาใช้ทางการเกษตรได้ เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอดจนเห็นสันดอนกลางแม่น้ำ ตั้งแต่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทลงมา เป็นอย่างนี้มาเนิ่นนานแสนนาน

ชาวนาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งข้อสังเกตของการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาว่า ช่วงเข้าหน้าฝนมีฝนตกลงมาอย่างมากมาย บางเขื่อนมีน้ำเต็มหรือเกือบเต็มสามารถใช้ในทางการเกษตรได้ตลอดปีก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีของชาวเกษตรกร แต่บางปีมีฝนตกมากจากทางภาคเหนือ แม่น้ำสายสำคัญ เช่น ปิง วัง ยม น่าน มีน้ำเต็มฝั่งและไหลลงสู่ทางตอนล่างมารวมกันที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท

โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาผ่านจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ลงสู่ทะเล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราปล่อยน้ำลงสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ เวลาถึงหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแห้งขอด ผลกระทบตกอยู่กับชาวเกษตรกรที่ไม่มีน้ำทำไร่ทำนาทำสวน ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือช่วยชาวเกษตรกรแบบยั่งยืนแต่อย่างใด

อยากให้มีการสร้างประตูระบายน้ำแบบเดียวกับเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นอีกแห่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือจังหวัดอ่างทอง เพื่อจะได้กักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง ช่วยเกษตรกรภาคกลางตอนล่างได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะเขาสามารถมีน้ำใช้ได้ตลอดปี จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีระดับสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างถาวร

ด้วยความเคารพ

กอข้าว

ตอบ กอข้าว

เป็นความคิดอีกแง่มุมต่อการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา หวังว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีคำอธิบายที่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน