บก.ตอบจดหมาย

การอ่านพระนาม”ปรมินทร”

เรียน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด

ผมอ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสดเป็นประจำมาเป็นเวลาหลาย ปีแล้ว ขณะนี้มีความข้องใจเกี่ยวกับการออกพระนาม “พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ของพิธีกรสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ผมเป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีกิจการงานอะไรที่จะทำ นั่งดูนอนดูโทรทัศน์แทบทั้งวัน และก็มีความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าคำว่า “ปรมินทร” ทำไมพิธีกรทุกคนจึงไม่อ่านออกเสียงคำนี้ว่า “ปะระมินทะระ” ผมฟังแล้วก็คับข้องใจมาหลายวัน จนกระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 18 ตุลาคม 2559 ดร.วิษณุ เครืองาม ออกมาชี้แจงว่าคำคำนี้ จะต้องออกเสียงว่า “ปะระมินทะระ” จึงจะถูกต้อง ผมก็คิดว่าตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ตุลาคม เป็นต้นไป คงจะได้ยินการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องเสียที แต่ก็ปรากฏว่าพิธีกรทุกๆ คน ทุกๆ สถานี ยังคงอ่านออกเสียงเหมือนเดิม

ผมจึงใคร่ขอเรียนสอบถามกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” ว่า คำคำนี้ที่ถูกต้องนั้น อ่านว่าอย่างไรกันแน่ครับ

ข้าราชการบำนาญขี้สงสัย

ตอบ ข้าราชการบำนาญขี้สงสัย

ข้อสงสัยของคุณนั้น หากฟังจาก พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล และรักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ บอกว่า อ่านได้หลายแบบตามประเพณีนิยมแล้วแต่ใครจะอ่านอย่างไรก็ได้ ขณะที่ราชบัณฑิตยสภาเพิ่งสรุปว่า พยางค์ “ปรมินทร” อ่านว่า ปอ-ระ-มิน, ปะ-ระ-มิน ไม่อ่านว่า ปอ-ระ-มิน-ทระ, ปะ-ระ-มิน-ทระ และไม่อ่านว่า ปอ-ระ-มิน-ทะ-ระ, ปะ-ระ-มิน-ทะ-ระ

ของว่างรถบขส.วีไอพีมีไม่ครบ
2
เรียน บรรณาธิการน.ส.พ.ข่าวสด

ขอรบกวนฝากเรื่องร้องเรียน ถามเกี่ยวกับรถบขส.ให้ด้วย เรื่องของว่างชุดวีไอพีที่แจกให้ผู้โดยสารบนรถ ที่เดินทางโดยรถบัส บขส.วีไอพี 36 ที่นั่ง น้ำผลไม้ทิปโก้ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีแจกให้ ไม่ได้ใส่มาในกล่องชุดวีไอพีค่ะ หายไปไหนคะ พนักงานลืมบรรจุหรือเปล่าคะ ของอื่นที่ระบุตามรายการใต้กล่องมีหมด (1, 3, 4, 5, 6, 7) ยกเว้น 2 น้ำผลไม้ไม่มี นั่งมาจากภูเก็ต มาหมอชิต

ขอบคุณ

พัชรี

เซ็ตซีโร่รถเมล์เอกชน

เรียน บ.ก.ข่าวสด

ใช้ม.44 ยกเลิกรถเมล์เอกชนที่มีถึง 111 สัญญาทั้งในกทม. และปริมณฑล ให้ไปอยู่ในการควบคุมของขนส่งทางบกนั้น หมายความว่าต่อจากนี้ขนส่งทางบกจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมดในการเดินรถใช่หรือไม่ ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาตเดินรถ เส้นทางการเดินรถ ในฐานะที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะนั้น สิ่งที่วอนขอคืออย่าตัดเส้นทางรถให้สั้นเลย ผู้ใช้บริการต้องรับภาระค่าโดยสารเพิ่มขึ้น นั่งรถสอง-สามต่อกว่าจะถึงจุดหมาย หลายคนก็เลี่ยงที่จะไม่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสและใต้ดิน แม้ว่าจะสะดวกและรวดเร็ว แต่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย สังเกตได้จากผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีรายได้น้อย จะยอมนั่งรถเมล์โปรดเห็นใจกับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ด้วย ผู้ใช้บริการมีหลายระดับ รายได้ก็ต่างกัน ทอดให้สั้นเพื่อไปเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้า มีส่วนดีสำหรับผู้ต้องการความรวดเร็ว แต่ก็ต้องเหลือตัวเลือกให้กับผู้ใช้บริการบ้าง

ด้วยความเคารพ

รุ่ง

ตอบ คุณรุ่ง

ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ต้องรอการตัดสินใจชี้ขาดจากรัฐบาล หลักการก็คือการเซ็ตซีโร่ แล้วให้คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเข้ามาควบคุมการอนุญาตใหม่หมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน