คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ต่อเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ มาเป็นการพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มีสมาชิกแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางประชาธิปไตย

จะแก้ไขจุดอ่อนและอุปสรรคของกฎเกณฑ์ และข้อบังคับจุดใดที่จะทำให้ระบบการเมืองการปกครองดีขึ้น

ดีขึ้นในที่นี้หมายถึงประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นและมีโอกาส ที่เท่าเทียมกัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวต้องเป็นความร่วมมือของสมาชิกทั้งพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล

แม้ว่าเป็นเรื่องปกติที่แต่ละพรรคหรือแต่ละฝ่ายเห็นแตกต่างกัน แต่ความเข้าใจถึงระบอบประชา ธิปไตยขั้นพื้นฐานต้องมีตรงกัน

ถ้าพื้นฐานความเข้าใจไม่ตรงกัน การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะประสบปัญหาเดินหน้าไม่ได้

กรณีผู้นำรัฐบาลลุกขึ้นชี้แจงเรื่องเผด็จการ จากการยึดอำนาจ ว่ารัฐสภาก็เป็นเผด็จการได้ เช่นกัน ตามที่มีวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” โจมตีรัฐบาลในอดีต เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ตัวอย่างนี้สะท้อนได้ชัดเจนว่าไม่มีความเข้าใจหรืออาจไม่ยอมรับกติกาตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ตามระบอบประชาธิปไตย

รัฐบาลชุดใดก็ตามที่มีส.ส.เข้ามาในสภาอย่างล้นหลามจากการเลือกตั้งซึ่งเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศว่ามีเปอร์เซ็นต์ความโปร่งใสสูง มีข้อครหาน้อย รัฐบาลนั้นย่อมมีโอกาสบริหารงานง่ายขึ้น

เพราะเมื่อต้องการจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับใดก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาเสียงข้างมาก

ขณะเดียวกันหากรัฐบาลนั้นๆ บริหารงาน ผิดพลาด ใช้อำนาจทางรัฐสภาอย่างไม่เหมาะสม ย่อมถูกประชาชนที่เลือกมาตำหนิ ต่อว่า และลงโทษ ด้วยการไม่เลือกให้เข้าสภาอีก

กระบวนการเหล่านี้ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน สามารถ แก้ไขปัญหาและเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ โดยไม่มีใครครองอำนาจเป็นเผด็จการไปได้ตลอด

เผด็จการรัฐสภาจึงไม่มีจริง และไม่ควร ถูกนำมาใช้อ้างว่าเป็นเผด็จการเหมือนกับ การยึดอำนาจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน