คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

กรณีของ“หมุดคณะราษฎร”กำลังจะเป็น“บทเรียน”อันมีความหมายทางการเมือง

ทั้งๆที่รู้อยู่เป็นอย่างดีว่าชะตากรรมของ“หมุดคณะราษฎร”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยน แปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 เป็นอย่างไร

แล้วเหตุใดจึงต้องปักหมุด“คณะราษฎร”ใหม่ขึ้น

เพราะแม้จะปักหมุด“คณะราษฎร 2563”ขึ้นพร้อมกับคำสาปแช่งมากมาย แต่เมื่อถึงตอนเช้ามืดของวันที่ 21 กันยายน หมุดนี้ก็มีเส้นทางเหมือนกับหมดเมื่อปี 2475

แล้ว“ปุ้ย เพนกวิน อานนท์”ทำกันทำไม

คําตอบของคำถามนี้ต้องมองไปยัง”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”อย่างเข้าใจ

สถานการณ์อันเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน แต่ละก้าวล้วนมีความหมายและสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ในทางความคิด ผ่านสัญลักษณ์แต่ละอย่าง

นี่ย่อมสัมพันธ์กับการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม แนบแน่น

เพราะว่าวันนั้นเป็นการเหยียบลงไปบนถนนราชดำเนินโดยมีเป้าหมายแวดล้อมอยู่โดยรอบกับ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นผลผลิตของเดือนมิถุนายน 2475

จากนั้นจึงโยงมายัง 1 ธรรมศาสตร์ 1 สนามหลวง

การเคลื่อนไหว“19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”อาจเริ่มต้นจาก“ธรรมศาสตร์”

เพราะว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองคือป้อมปราการใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์แห่งระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนาตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2475

และธรรมศาสตร์ย่อมสัมพันธ์กับ“สนามหลวง” การเปิดประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากนั้นจึงค่อยๆทะยอยมารวมตัวกัน ณ ท้องสนามหลวงจึงเป็นเงาสะท้อนแห่งความสัมพันธ์

ความคิดและการเมืองใต้ธง“ประชาธิปไตย”โบกสะบัด

นี่คือการต่อสู้ในทาง“ความคิด” นี่คือการต่อสู้ในทาง“สัญลักษณ์”

อย่าได้แปลกใจหากว่าเป้าหมายของพวกเขาก็คือ การไปรวมตัวกันที่รัฐสภาในห้วงแห่งการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นั่นก็คือ จังหวะก้าวแห่งการปิดสวิตช์ 250 ส.ว.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน