คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ไม่มีใบสั่ง ไม่ได้ยืดเยื้อ เป็นถ้อยคำยืนกรานมาจากรัฐบาล ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสมาชิก มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมฯ แทนที่จะเป็นการลงมติรับร่างแก้ไขที่มีพรรคต่างๆ เสนอไว้ 6 ฉบับ

แต่การเลือกเส้นทางนี้ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านรู้สึกคล้ายกันว่าถูกต้ม

จากที่ทำให้ประชาชนรับทราบว่ารัฐสภาเปิดสวิตช์ประเด็นสำคัญของประเทศแล้ว สวิตช์กลับถูกปิดไปพร้อมกับสมัยประชุมไปได้อย่างง่ายดาย

ดังนั้นถึงแม้ประธานรัฐสภากล่าวว่า ‘ทุกคนทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้ว อย่าหวั่นไหวกับเสียงภายนอก’ ก็ใช่ว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

สําหรับส.ว. การแสดงท่าทีที่ไม่แยแสอะไรกับการปิดสวิตช์ ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะส.ว.เป็นคณะบุคคลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และออกจะมีทัศนคติแง่ลบต่อผู้ชุมนุม

แต่สำหรับส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล การตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้จะมีผลตามมาอย่างแน่นอน

โดยเฉพาะพรรคที่เคยหาเสียงว่าจะเข้าสภาด้วยนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยท่าทีขึงขังไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และถ้อยคำที่มุ่งมั่นจะร่วมปฏิรูปประเทศในรูปแบบที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วม
เวลาหนึ่งเดือนสำหรับการหยุดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจดูไม่นานเกินไป และไม่น่าเป็นผลกระทบทางการเมืองสำหรับพรรคที่อยู่ในฐานะรัฐบาลอันเป็นฝ่ายได้เปรียบ

แต่หากนับรวมเวลาแช่แข็งประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2557 การเฝ้ารออย่างอดทนจึงแปรเปลี่ยนเป็นการชุมนุมที่ไม่มีวี่แววจะอ่อนแรง

 

ก้าวย่างต่อไปในช่วง 1 เดือนจากนี้ไป หลายคนคาดการณ์ว่าจะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น เพราะผู้ชุมนุมอาจเพิ่มจำนวนมากขึ้นและเพิ่มการเคลื่อนไหวมากขึ้น

วิธีการแช่แข็งของฝ่ายมีอำนาจ อาจถูกละลายจากกระแสความร้อนแรงของประชาชนที่รู้สึกว่ากำลังถูกต้มจากผู้แทนของตนเอง

สำหรับรัฐบาล แม้ยืนยันว่าไม่ได้มีใบสั่งให้ส.ส.ของพรรคตนเองเลือกเส้นทางนี้ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการแบกรับแรงกดดันนี้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน