คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การชุมนุมหลายๆ ครั้งของกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนในระยะหลังๆ น่าสังเกตว่ามีกิจกรรมรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้ชุมนุมสัญลักษณ์เสื้อแดงเมื่อปี 2553

ระยะเวลาห่าง 10 ปี และภูมิหลังของผู้ชุมนุมที่แตกต่างกัน เป็นข้อสังเกตว่าเหตุใดผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่จึงแสดงความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ชุมนุมเมื่อสิบปีก่อน

มีหลายๆ คนเอ่ยคำขอโทษที่เคยเข้าใจผิด เคยกล่าวหา

จุดเปลี่ยนความคิดของผู้ชุมนุมหลายคนระบุถึงการย้อนกลับไปศึกษาเหตุการณ์ และเป้าหมายของการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงที่เคยเรียกร้องขอให้ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

เป็นการขอหนทางแก้ไขข้อขัดแย้งตามกระบวนการประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีและไม่ซับซ้อน

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีเป้าหมายให้เลือกหนทางสันติเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ด้วยการเลือกตั้ง แต่กลับลงเอยด้วยความรุนแรง มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 99 ศพ ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รวมอยู่ด้วย

การรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองปี 53 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีภาพความสูญเสียทั้งฝ่ายพลเรือนและเจ้าหน้าที่ เพราะอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ และเห็นใจเพื่อนมนุษย์
การฉายภาพดังกล่าวตอกย้ำว่า การใช้ความรุนแรงไม่เป็นผลดีกับใครเลย และสังคมต้อง เรียนรู้บทเรียนนี้

รัฐบาลที่มีอำนาจต้องตระหนักถึง บทเรียนนี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อการเคลื่อนไหว เข้มข้นและกดดันมากขึ้น

ความรู้สึกร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อนขณะนี้คือการเรียกร้องให้เลือกหนทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ
คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปรากฏจุดบกพร่องและสร้างความขัดแย้งที่ยากจะหาจุดประนีประนอมกันได้

กรณีชัดเจนขณะนี้คือที่มาและการทำหน้าที่ของส.ว. ที่ไม่ยึดโยงและไม่ตอบสนองกระบวนการประชาธิปไตย

การใช้อำนาจของส.ว.ที่มีจำนวนสูงถึง 250 ที่นั่งบวกกับส.ส.พรรครัฐบาล ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขยืดเยื้อออกไป ไม่ต่างกับความรู้สึกของประชาชนที่มองกระบวนการการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
การกล่าวหาผู้ชุมนุมรุ่นใหม่มีเบื้องหลังชักใย ก็ไม่ต่างกับที่คนเสื้อแดงเคยถูกมองมาก่อน
ทุกฝ่ายต้องตระหนักให้ดีว่าจะเลี่ยงการลงเอยแบบเดิมอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน