คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คบเพลิง ต่อสู้ – พัฒนาการแห่งการชุมนุมของ “คณะราษฎร 2563” น่าสนใจ น่าติดตาม

ในการเคลื่อนไหว “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” อาจยังไม่แจ่มชัด เนื่องจากถูกกลบทับด้วยบทบาทและสีสันจากลุงๆ ป้าๆ “คนเสื้อแดง”

บทบาทของ “นักเรียน นักศึกษา “อาจเป็น” ด้านรอง”

เมื่อเข้าสู่การเคลื่อนไหวภายใต้นาม “คณะราษฎร 2563” โดยเฉพาะในวันที่ 14 ตุลาคม จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเริ่มเห็นภาพ

ภาพของ “มวลชนอันงาม คือมหาสกลไกร” ที่เป็น “นักเรียน นักศึกษา”

มองจากภายนอก รับรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสีสันของนักเรียน ของนักศึกษา

คำตอบที่ตรงตัวอย่างที่สุดน่าจะเป็นหน้าตาน่าจะเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่องอันสะท้อนจุดต่างอย่างเด่นชัดจากเสื้อผ้า อาภรณ์ ละลานตา

ยิ่งกว่านั้นยังเป็นในเรื่องของ “เสียง”

มีความแตกต่างอย่างแน่นอนระหว่างเสียงของผู้อาวุโสอันเปล่งมาจาก “คนเสื้อแดง” กับเสียงของคนรุ่นเยาว์อันเปล่งมาจาก “นักเรียน นักศึกษา”

นั่นก็คือ เสียงอันสดใสและกังวานก้อง

การชุมนุม ณ แยกราชประสงค์ เมื่อตอนเย็นย่ำสนธยา 15 ตุลาคมยิ่งเด่นชัด

ต้องยอมรับว่าหากมองในเชิง “สัญลักษณ์” การชุมนุมที่นัดหมายนี้ดำเนินไปอย่างเป็นการเชื่อมประสานกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

อันมาพร้อมกับคำประกาศ “ที่นี่ มีคนตาย”

ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2553 กับเดือนตุลาคม 2563 สภาพการณ์ของการชุมนุมเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากแม้ว่าจะเป็นสถานที่เดียวกัน

สะท้อนให้เห็นว่าคบเพลิงแห่งการเคลื่อนไหวอยู่ในมือของคนอีกรุ่น

ถามว่าการชุมนุมในวันที่ 15 ตุลาคมออกมาให้สังคมได้วัดค่าประเมินผลอย่างไร

คำตอบแรกก็คือ เป็นการเชื่อมประสานไม่เพียงแต่กับเมื่อปี 2553 หากแต่ยังเป็นการแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วจากการถูกสลายเมื่อรุ่งสางของวันที่ 14 ตุลาคม

เป็นการเข้ามาของ “คนรุ่นใหม่” เต็มกำลัง ความสามารถ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน