คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หมดความชอบธรรม – การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุมซึ่งมีเยาวชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 16 ต.ค. รวมถึงเหตุการณ์แวดล้อมก่อนหน้านั้น ทำให้ความชอบธรรมของรัฐบาลหมดลง

คำกล่าวอ้างว่าปฏิบัติตามหลักสากลและ คำยืนยันว่าน้ำผสมสารเคมีสีน้ำเงินไม่อันตราย กลับไม่มีน้ำหนักพอว่าทำไมถึงต้องใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมมือเปล่าถึงขั้นนั้นตั้งแต่แรก

ทั้งที่ประเด็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการกวาดจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมยังคงเป็นที่ถกเถียงและคัดค้านอย่างกว้างขวาง ว่าขัดแย้งกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ทั้งที่เหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ ผู้ถูกกล่าวหายังต้องอาศัยการพิสูจน์หลักฐานเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาร้ายแรงก่อน

แต่รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมอธิบาย กลับกล่าวหาและราดน้ำมันบนกองไฟ

เหตุการณ์ใช้กำลังสลายการชุมนุมทำให้ผู้แทนสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติ ส่งสารแสดงความกังวลอย่างยิ่ง

ทั้งย้ำว่ารัฐบาลต้องอนุญาตให้ผู้ประท้วงใช้สิทธิและหาทางเจรจา ไม่ใช่ปราบปรามผู้ประท้วง

ทุกครั้งที่นานาประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลแสดงความเห็น ทางการไทยมักโต้แย้งว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ และรัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว

แต่กรณีนี้เป็นอีกครั้งที่มีคำถามย้อนกลับไปว่า ใครเป็นผู้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้แล้วทำให้สถานการณ์แย่ลง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศทางการเมืองแย่ลงคือคำกล่าวของผู้นำประเทศที่แบ่งแยกประชาชนหลายครั้ง ด้วยวาทะรักชาติ-ไม่รักชาติ รวมถึงล่าสุดที่เอ่ยอ้างถึงพญามัจจุราช

แม้อ้างอิงเชิงพุทธศาสนาเรื่องไม่ประมาท แต่บริบทที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวสื่อถึงอำนาจที่กำหนดความเป็นความตายของผู้อื่นได้เช่นกัน

หากเป็นผู้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งย่อมไม่แสดงออกเช่นนี้ โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นผู้นำต้องมีหลักพรหมวิหาร 4 ไม่จำเป็นต้องท่องจำบทสวดมนต์แข่งกับใคร

เหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 16 ต.ค. ทำให้ประชาชนจำนวนมากมองออกว่าผู้ครองอำนาจมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือไม่

และทำไมความชอบธรรมของรัฐบาลจึงหมดลง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน