คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

คณะราษฎร 2563 – เริ่มมีเสียงบ่นจาก “คอการเมือง”ระดับฮาร์ดคอร์ ต่อการเคลื่อนไหวของ“เด็ก”

หลายคนมองเห็นว่าการเคลื่อนไหวอย่างที่เห็นนับจากเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน เรื่อยมา กระทั่งเดือนตุลาคม ไม่น่าจะทรงพลานุภาพ

เรียกมวลชนออกมาชุมนุม เสร็จแล้วก็กลับบ้าน

ผลก็คือ ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ไม่ว่าจะในเรื่องหยุดคุกคามประชาชน ไม่ว่าจะในเรื่องยื่นคำขาดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง

เป็นเช่นนั้นจริงละหรือ

หากมองจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมลาออกก็อาจจะเป็นจริง

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่ากระหึ่มแห่งเสียงเรียกร้องและกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกอันดังจากปากของ ส.ส.ฝ่ายค้านก็เป็นความจริงอีกเหมือนกัน

โดยเฉพาะจากที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา

เสียงนี้อาจจะมาจากความรู้สึกของ ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ ว่าจะเป็นพรรคเสรีรวมไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ

แต่ก็เป็นความรู้สึก “ร่วม” อันสอดรับกับ “ข้อเรียกร้อง” จากที่ชุมนุม

ยิ่งกว่านั้น ท่าทีที่ยอมรับในการจำต้องแก้ไขเพิ่มเติม“รัฐธรรมนูญ”ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

ก่อนเดือนกรกฎาคม ทางด้านของรัฐบาลสัมผัสไม่ได้เลยในความกระตือรือร้นที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

กรรมาธิการศึกษาก็เรื่อยๆ มาเรียงๆ

ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวในเดือนกรกฎาคม ท่าทีของรัฐบาล ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนในลักษณะขานรับกับข้อเสนอของฝ่ายค้านและของที่ชุมนุมมากยิ่งขึ้น

นี่ย่อมเป็นผลสะเทือนจากการเคลื่อนไหวอย่างเด่นชัด

ต้องยอมรับว่ากระบวนการเคลื่อนไหวของ “เยาวชน”เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย

แตกต่างเป็นอย่างมากกับการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 แตกต่างเป็น อย่างมากกับการเคลื่อนไหวก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือการเคลื่อนไหวที่แทงทะลุไปถึง “โครงสร้าง”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน