คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คนไทยหรือเปล่า – เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงที่ผู้ใหญ่ลงไม้ลงมือรวมถึงข่มขู่คุกคามต่อเยาวชนซึ่งเกี่ยวเนื่อง จากการชุมนุม เริ่มปรากฏบ่อยขึ้นและเป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับสังคม

ทั้งเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเหตุการณ์ที่สถานีรถไฟ จ.พระนครศรีอยุธยา บ่งบอกว่าฝ่ายที่ไม่มีวุฒิภาวะคือผู้ใหญ่

เมื่อไม่สามารถควบคุมผู้มีวัยวุฒิอ่อนกว่าได้ ก็ใช้กำลังเพื่อจะเอาชนะ

คล้ายกับกรณีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียนที่ผู้ใหญ่กระทำต่อเด็กหลายเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ที่แสดงถึงการยึดติดกับอำนาจนิยม ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และไม่เคารพอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

กรณีแบบนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่คน ในสังคมต้องร่วมป้องกันและขจัดให้หมดไป

สําหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่ดูดายเมื่อเด็กหรือเยาวชนร้องเรียนหรือเข้าแจ้งความว่าถูกทำร้ายหรือถูกข่มขู่คุกคาม

หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถเอาผิดผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กให้เป็นเยี่ยงอย่าง กรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีก และเสี่ยงที่จะเป็นความรุนแรง ที่สูงขึ้น

เพียงแค่การใช้วาจาคุกคามเยาวชนหรือบุคคลที่มีความเห็นแตกต่างจากตนว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า ก็นับเป็นเรื่องไม่ชอบธรรมแล้ว

เนื่องจากผู้ที่กล่าวกำลังใช้อำนาจตีความและตัดสินผู้อื่นจากมุมมองและทัศนคติความเชื่อที่คับแคบของตนเอง

ถ้อยคำเหยียดหยามให้ร้ายผู้อื่นว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” มีลักษณะเดียวกับการ กล่าวหาผู้อื่นว่า “ชังชาติ”

เช่นเดียวกับการสำคัญผิดและใส่ร้ายเยาวชนที่แสดงออกทางการเมืองว่าไม่รักประเพณีและรากเหง้าของคนไทย

กรอบประเพณี วัฒนธรรม และรากเหง้า เป็นวิวัฒนาการร่วมกันของคนในสังคม ไม่ใช่การกำหนดโดยผู้มีอำนาจให้ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด

เหมือนกับประวัติศาสตร์ของประเทศที่ต้องเปิดกว้างทางวิชาการให้ศึกษาในหลายแง่มุม ไม่ใช่ท่องจำตามตำรารักชาติในแบบฉบับของ ผู้ถือครองอำนาจ

คำพูดว่า คนไทยหรือเปล่า ไม่ควรจะเป็นเงื่อนไขในการเหยียดหรือทำร้ายผู้อื่นอีก โดยเฉพาะกับเยาวชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน