กฎหมายอำมหิต – ระบอบประยุทธ์เล่นเกม 3 หน้า เปิดสภาวิสามัญ ชงตั้งกรรมการสมานฉันท์ ยืนกรานไม่ออก ไม่ได้ทำผิดอะไร ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ตั้งข้อหาร้ายแรงแกนนำม็อบ แล้วก็ใช้กลไกรัฐสนับสนุนการใส่เสื้อเหลืองแสดงพลังต้านม็อบราษฎร

พูดอย่างนี้ไม่ได้ด้อยค่าประชาชนใส่เสื้อเหลือง เพราะคนออกมาด้วยความจงรักภักดีก็มีมาก แต่ภาครัฐไม่ควรออกหน้า เจ้ากี้เจ้าการ จนหนังสือราชการปลิวว่อน เกณฑ์คนเห็นคาตา กทม.ให้บริการสองมาตรฐาน จัดไฟจัดรถสุขา ขณะที่ม็อบราษฎรถูกรังควาน ยึดกระทั่งหม้อหุงข้าว

เพราะมันกลายเป็นว่า รัฐบาลฉวยโอกาสบังอยู่ข้างหลังม็อบเสื้อเหลือง อาศัยปกป้องประยุทธ์ไปด้วย ขณะที่กองเชียร์ประยุทธ์ก็ไม่ได้แยก 2 เรื่องออกจากกัน เช่นคนใส่เสื้อเหลืองปกป้องสถาบันแต่ไม่เอาประยุทธ์ เกือบถูกรุมทำร้าย เพจเชียร์ลุงเรี่ยไรช่วยผู้หญิงตบเด็กไม่เคารพธงชาติ

รัฐบาลควรคำนึงว่า แม้ม็อบไม่แยกประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” ออกจากการไล่ประยุทธ์ แต่รัฐบาลก็ต้องมีความรับผิดชอบ แยกสองข้อออกจากกัน

พูดอีกอย่างคือ ถ้าประยุทธ์ยอมถอยจริง ยอมลาออก เปิดทางให้รัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ 250 ส.ว. อุณหภูมิทางการเมืองจะลดลง แม้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันยังอยู่ แต่คนรุ่นใหม่ก็ต้องการเพียงเสรีภาพที่จะเสนอ ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ขึ้นกับเสียงข้างมากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแก้กฎหมาย

แต่ตอนนี้ภายใต้แรงกดดันของอำนาจ ม็อบราษฎรก็ “ข้ามแม่น้ำ” ไปแล้ว อย่างไม่มีทางหวนกลับ กระทั่งรัฐสภา ก็ถูกปฏิเสธไปแล้วว่าไม่มีความหมายอะไร ภายใต้ 250 ส.ว. และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจากการเมืองเก่า ระบบอุปถัมภ์ (ที่คนชั้นกลางในเมืองเคยด่าทอนั่นเอง วันนี้พลิกกลับมาค้ำประยุทธ์หมดแล้ว)

รัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เล่นงานม็อบ ตั้งข้อหาร้ายแรงเกินกว่าเหตุ เช่นใช้มาตรา 116 กับอานนท์ รุ้ง เพนกวิน ไมค์ หมอลำแบงค์ ฯลฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. แล้วคัดค้านจนศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่เป็นข้อหาครอบคลุมกว้างขวาง ไม่ระบุชัดเจนว่าอะไรคือความผิดต่อความมั่นคง

พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ บังคับให้ประชาชนที่อยากม็อบไล่รัฐบาล ต้องไปขออนุญาตตำรวจ ซึ่งอยู่ใต้อำนาจรัฐบาล แต่แม้ฝ่าฝืนชุมนุมโดยตำรวจไม่อนุญาต ก็มีโทษเบา ผิด พ.ร.บ.จราจร ใช้เครื่องขยายเสียง ฯลฯ ส่วนใหญ่ก็เป็นโทษปรับ แต่ตำรวจกลับตั้งข้อหาเป็นหางว่าว เป็นภัยความมั่นคง มั่วสุมเกิน 10 คน ใช้กำลังประทุษร้าย ฯลฯ ถามจริง เอามาจากอะไร

ม็อบไล่ครูไล่กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือเรียกร้องราคาข้าวราคายาง ก็เกิน 10 คนทั้งนั้น อยู่ที่การใช้อำนาจของตำรวจ

เปรียบเทียบง่ายๆ ม็อบราชประสงค์วันที่ 25 ตำรวจจะยึดรถเครื่องเสียง ซึ่งความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษแค่ปรับ 200 บาท แต่พอกลุ่มอาชีวะไม่ยอมให้ยึด รอง ผบช.น.ก็บอกว่า ที่เรียกตรวจรถเพราะต้องตรวจสอบว่า ติดตั้งเครื่องเสียงถูกต้องตามมาตรฐาน มอก.หรือไม่ ดัดแปลงรถผ่านการตรวจสอบของกรมการขนส่งทางบกหรือไม่ กลุ่มอาชีวะที่ไม่ยอมให้ยึดรถ จึงมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน

นึกภาพตำรวจเรียกตรวจแมงไซค์ เดินรอบรถต้องหาที่ผิดจนได้ แบบนั้นแหละที่กำลังเอามาใช้ทางการเมือง

ใช้อย่างรุนแรงด้วย เพราะแต่ละข้อหามีโทษหนัก แต่เบื้องต้นคือการสุมข้อหามากๆ จนสามารถคัดค้าน ไม่ได้รับการประกันตัว

คำถามคือ ตำรวจตั้งข้อหาอานนท์ รุ้ง เพนกวิน ฯลฯ จากข้อเสนอปฏิรูปสถาบันหรือไม่ ข้อเสนอนี้ผิด 116 ใช่หรือไม่ ก็ไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ตั้งข้อหาครอบคลุมไว้ เลยไปกระทั่งม็อบวันที่ 18 ก.ค. ที่ยังไม่มีข้อเสนอนี้เลย

ตำรวจไม่ตอบข้อนี้ เพราะถ้าตอบ ก็จะมีนักกฎหมายจำนวนมากออกมาโต้ว่า การเสนอปฏิรูปสถาบันไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งยอมให้แก้หมวด 1 หมวด 2 ได้แต่ต้องลงประชามติ

ยังมีคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ตำรวจอีกมาก เช่น การจับกุมเอกชัย หงส์กังวาน, ตัน สุรนาถ ผู้ต้องหามาตรา 110 ซึ่งทั้งสองโพสต์แจ้งสาธารณะว่าจะไปมอบตัว แต่ตำรวจชิงจับเอกชัยกลางทาง จับสุรนาถก่อนออกจากบ้าน ทำให้ไม่สามารถต่อสู้ในศาลว่า มามอบตัวเอง ไม่คิดจะหลบหนี

ตำรวจยังไปดักจับ มายด์ ภัสราวลี ด้วยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ไม่เข้าข่ายความผิดที่ต้องออกหมายจับตาม ป.วิอาญา มาตรา 66

นี่ยังดี ศาลยกคำร้องออกหมายจับมายด์ กับเพื่อนๆ จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน รวมทั้งยกคำร้องขอหมายจับธนาธร จากคดีชุมนุมและคดี กกต.แจ้งเอาผิดอาญา “หุ้นสื่อ” ซึ่งบ้าจี้สิ้นดี ในเมื่อเขาไม่คิดจะหลบหนี และเป็นคดีที่ยังสู้กันยาว

ประยุทธ์บอกให้ประชาชนเคารพกฎหมาย ทั้งที่ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนกฎหมายกันเอง ใช้อำนาจเกินเลย แล้วอ้างว่ากฎหมายไม่รังแกใคร อยู่ในประเทศนี้ต้องเคารพกฎหมายไทย ฯลฯ

การบังคับใช้อย่างนี้จะทำให้ประชาชนตระหนักว่า ถ้าไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ไม่ได้ประชาธิปไตย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน