คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

สถานะ การเมือง ของ ประยุทธ์ – สถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ทั้งสลับซับซ้อนและมากด้วย“ความอ่อนไหว”

เป็นความอ่อนไหวและยั่วเร้าให้นำไปสู่ “รัฐ ประหาร” ขณะเดียวกัน ก็เป็นความสลับซับซ้อนในการจัดระเบียบใหม่ในทางการเมือง

เพราะเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็เป็นอย่างนี้

ยิ่งสถานการณ์ก่อนรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเองก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรแตกต่าง

ข่าวลือในเรื่อง“รัฐประหาร”จึงเริ่มดังขึ้นดังขึ้น

คนที่ผ่านสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ย่อมต้องเพิ่มความระวัง

เนื่องจากก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของมวลมหาประชาชน ดับเครื่องชนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

มีทั้งต่อต้าน“การเลือกตั้ง” มีทั้งยึด“หน่วยราชการ”

ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกจึงเสียสละนำกำลังทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ออกมาทำ“รัฐประหาร”

ประกาศเป็น “คนกลาง” มาสร้างความสามัคคีในบ้านเมือง

ถามว่าจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนตุลาคม 2563 บ้านเมืองเป็นอย่างไร

ความปรองดองได้บังเกิดขึ้นหรือไม่ รัฐบาลสามารถบริหารราชการแผ่นดินนำความสุข ความสถาพรมาให้กับประชาชนพลเมืองได้ตามที่ประกาศหรือไม่

การปรากฏขึ้นของ “คณะราษฎร 2563” คือ คำถาม

ยิ่งกว่านั้น ทำท่าว่าความขัดแย้งมิได้มีระหว่าง “ราษฎร” กับรัฐบาลซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เท่านั้นหากทะลุเพดานไป ยิ่งกว่านั้น

ตรงนั้นแหละคือความสลับซับซ้อน คือความละเอียดอ่อน

ปมเงื่อนจึงอยู่ที่บทบาทของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเล่นบทอย่างไร

เล่นบทเป็น“คนกลาง”ในการจัดการกับปัญหาได้หรือไม่ เล่นบทเป็นคนคลี่คลายปัญหาทั้งในทางการเมือง ทั้งในเศรษฐกิจเพื่อหลุดพ้นไปจาก“วิกฤต”ได้หรือไม่

ตรงนี้แหละคือความสลับซับซ้อน คือความละเอียดอ่อน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน