คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ไม่ว่าจะเป็น “ไทยไม่ทน” ไม่ว่าจะเป็น “ประชาชนไทย” เสมอเป็นการ “อุ่นเครื่อง”

หากดูจากสภาพการณ์ของการเคลื่อนไหว ณ สวนสันติพร เมื่อเดือนเมษายน หากดูจากการออกมายืนแถลง 3 คนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียสละ

ต้องยอมรับยังไม่สามารถเปล่งพลานุภาพได้

การจัดปราศรัย “ออนไลน์” ในเบื้องต้นอาจคึกคักโดยการเข้าร่วมของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประสานกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตลอดจน ครูใหญ่ ขอนแก่น

แต่ก็ยังมิใช่เวทีในแบบอันเป็น “ไทย ไม่ทน”

การเดินสายไปยังพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย อาจคึกคัก

คึกคักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางไปยื่นหนังสือ ณ ทำเนียบรัฐบาล คึกคักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเดินทางไปยังกองบัญชาการกองทัพบก

แต่ “เป้าหมาย” ก็ให้ความสนใจไม่มากนัก

หากเทียบกับการปรากฏขึ้นจาก“เยาวชนปลดแอก” กระทั่ง “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ตลอดปี 2563 ก็แตกต่างกันเป็นอย่างมากในเชิง “ปริมาณ”

นั่นอาจถูกจำกัดจากสถานการณ์ของ “โควิด”

เส้นทางของ “ไทยไม่ทน” และ “ประชาชนไทย” จึงต้องเปล่ง “พลัง” เป็นอย่างสูง

ไม่ถึงกับต้องให้อึกทึกครึกโครมเหมือนกับ “คนเสื้อเหลือง” ก่อนรัฐประหาร 2549 ไม่ถึงกับต้องให้อึกทึกครึกโครมเหมือนกับ “คนเสื้อแดง” ในปี 2553

เพียงแต่ทำอย่างไรจึงจะเชื่อม “ประสาน”

ประสานทั้งพลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ให้ร้อยเข้ากับพลังเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และต่อยอดพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ได้

การยกระดับจาก “อุ่นเครื่อง” ไปสู่ “ของจริง” จึงทรงความหมาย

ต้องยอมรับว่าสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงแข็งแกร่ง

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวใน “รัฐสภา” ไม่ว่าการเคลื่อนไหวบน “ท้องถนน” ก็ยังไม่สามารถบั่นรอนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงไปได้

ต้องรอให้เข้าสู่ปลายปี 2564 แนวโน้มแห่งการเปลี่ยนผ่านจึงอาจจะชัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน