คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ภาพต่าง สองภาพ – จากจุดร่วมที่ “รัฐธรรมนูญ” รวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะมองผ่านกลุ่ม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ไม่ว่าจะมองผ่านกลุ่ม “ประชาชนไทย” ล้วนมีจุดร่วมกันอย่างมิได้นัดหมาย

นั่นก็คือ รวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพียงแต่กลุ่ม “ประชาชนไทย” โดย ทนายนกเขา นายนิติธร ล้ำเหลือ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ สุภาพอย่างยิ่งด้วยการใช้คำว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้อง “เสียสละ” ตัวเอง

แต่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ใช้คำว่า “ไล่” ตรง ตรง

น่าสังเกตว่าเป้าหมายของ “ไทยไม่ทน ประชาชนไทย” ตรงกับ “กลุ่มราษฎร”

เพียงแต่ “ราษฎร” ก่อรูปการร้องตะโกน “ออกไป ออกไป” ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ออกโรงหนแรกเมื่อยังเป็น “เยาวชนปลดแอก” ในเดือนกรกฎาคม 2563

ยิ่ง “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในเดือนสิงหาคม ยิ่งเข้มข้น

เช่นนี้เอง จากเดือนสิงหาคม กันยายน จึงนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับขึ้นเป็น “คณะราษฎร 2563” ขึ้นกลางท้องสนามหลวงในเดือนตุลาคม

เคลื่อนจากทุกจุดไปยังบริเวณหน้า “ทำเนียบรัฐบาล”

เมื่อประมวลแม่น้ำแต่ละสายล้วนไหลไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นความรู้สึกที่ก่อรูปและสะสมมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และปรากฏขึ้นอย่างอึกทึกครึกโครมตลอดทุกการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม 2563

เป็นความไม่พอใจที่เริ่มจาก “รัฐประหาร” ลามไป “รัฐธรรมนูญ”

ยิ่งเมื่อเข้าสู่ 7 ปีแห่งรัฐประหาร และ 4 ปีแห่งการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ความเรียกร้องต้องการให้นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยิ่งรุนแรงแข็งกร้าว

ประสานกับการส่งเสียงตะโกน “ออกไป ออกไป” กึกก้อง

สายตาที่ทอดมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงสรุปรวมเป็น 2 อย่าง

สายตา 1 มองเห็นความแข็งแกร่ง มั่นคง มองเห็นความสำเร็จ อีกสายตา 1 มองเห็นความขัดแย้งแตกแยก มองเห็นความล้มเหลวและรอวันพังทลาย

การเคลื่อนไหวในวันที่ 24 มิถุนายนจึงเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน