รายงานพิเศษ

ถอดรหัส‘ไทยพาณิชย์-กรุงไทย’ มองทางรอดเศรษฐกิจช่วงโควิด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังฟาดเศรษฐกิจไทยไม่หยุด ยิ่งการระบาดในระลอกสามที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กระทบและกระแทกจนเกิด “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ค่อนข้างรุนแรง

ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน โดย Economic Intelligence Center หรือ EIC (อีไอซี) ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2564 ลงเหลือ 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 0.9%

ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศระลอกที่สาม ฉุดดัชนีการบริโภคภาคเอกชนลงมาอย่างแรง ผู้บริโภค ขาดความเชื่อมั่นมาก สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนก.ค. ที่หดตัวถึง 8.1%

จากผลของการระบาดในประเทศรอบล่าสุดที่รุนแรงมากกว่าคาด ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยกว่าเดิม ตามความกังวลที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ระบาดในประเทศ

สะท้อนได้จากหลายประเทศที่ประกาศให้ไทยเป็นประเทศความเสี่ยงสูง ด้านการระบาดโควิด-19 เช่น สหรัฐ และสหราชอาณาจักร

จึงปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 1.7 แสนคน เดิมคาด 3 แสนคนในขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทย ปี 2564 จากภาคส่งออกและเม็ดเงินภาครัฐเห็นสัญญาณการชะลอตัวลง

การส่งออกมีอัตราเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี จากฐานของปีก่อนหน้าที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่มีการสะดุดตัวจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน อีกทั้ง ปัญหาด้านการผลิตที่หยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน

ส่วนของภาครัฐยังเบิกจ่ายต่อเนื่องจากทั้งในงบประมาณและจากหลายมาตรการช่วยเหลือ แต่มาตรการที่มียังไม่เพียงพอ

 

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานอีไอซี มองว่าผลกระทบจาก การระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงเดือน ก.ย.ปี 2564 เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจแล้วกว่า 8.5 แสนล้านบาท หรือ 5.3% ของจีดีพี ซึ่งรุนแรงมากกว่าระลอกแรกและระลอก 2

ยรรยง ไทยเจริญ

“ความช่วยเหลือของภาครัฐออกมาจนถึงปัจจุบันเพียง 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นอีไอซี จึงคาดว่าภาครัฐจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินจนหมด พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ขณะนี้แผลเป็นเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรง”

‘3 แผลเป็น’ ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยอักเสบเรื้อรังยาวนานมาจาก

1.อัตราการว่างงานที่มีทิศทางสูงขึ้น โดยเฉพาะคนอายุน้อยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.5% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคนว่างงานไทย ณ เดือนมิ.ย.ปี 2564 อยู่ที่ 2% ขณะเดียวกันคนตกงาน 6 เดือนถึง 1 ปี มีแนวโน้มจะตกงานในระยะยาว

2.คนทำงานมีรายได้ลดลง 20% ประเมินรายได้แรงงาน ที่สูญเสียไปในช่วงโควิดมีถึง 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หรือ หายไป 1 ใน 4 จากปีก่อนหน้าเกิดโควิด

และ 3.หนี้สินต่อครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 และถึงสิ้นปีมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง 90-92%

นายยรรยงกล่าวอีกว่า ภาครัฐควรกู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการบริโภค และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อจีดีพี

แต่หากภาครัฐใช้จ่ายอย่างมีประ สิทธิภาพและบริหารจัดการได้ เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศมีอยู่สูง จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า เพื่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าจะบริหารจัดการได้ และจะช่วยลบแผลเป็นของเศรษฐกิจไทย

“ปีนี้มีโอกาสที่จีดีพีจะติดลบถึง 0.5% หากเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง และกลับมาคุมเข้มมาตรการล็อกดาวน์ในไตรมาสที่ 4 รวมทั้งหากภาครัฐไม่ออกมาตรการการเยียวยาเพิ่ม ซึ่งควรต้องใช้จ่ายอีก 2 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการบริโภค และช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในไตรมาสที่ 4 นี้ และจะส่งผลในปี 2565 ซึ่งอีไอซี คาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 3.4%”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานอีไอซี กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น

อัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้นทั่วโลกในปีหน้า จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร่งขึ้นจากปีก่อน ทำให้การส่งออกไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 4.7%

นอกจากนี้ภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศมี แนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.3 ล้านคน ด้านเศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกันจากอัตราการฉีดวัคซีนที่คืบหน้า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 อาจมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสถึง 70-80% ของประชากร ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ

สําหรับภาครัฐ แม้การใช้จ่ายบริโภคจะมี แนวโน้มหดตัวตามกรอบงบประมาณที่ลดลง แต่การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวจากเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และอัตราเบิกจ่ายปี 2564ที่ต่ำจากมาตรการปิดแคมป์คนงานที่จะกลับมาเร่งตัวในปีหน้า

คาดว่าภาครัฐจะใช้เงินที่เหลือราว 3 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 2565

“แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่เป็นการฟื้นตัวแบบช้าๆ เนื่องจากผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างรุนแรง โดยแผลเป็นในภาคธุรกิจที่การเปิดกิจการยังมีการหดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม ยานยนต์ และอสังหาริมทรัพย์ ต้องรอปี 2566-2567 จึงจะฟื้นตัวกลับมาเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19”

ขณะที่กิจการที่เปิดใหม่ในระยะหลังมักมีขนาดเล็กและอยู่ในสาขาที่มีการลงทุนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เช่น ภาคเกษตร และร้านอาหาร การลดลงของจำนวนกิจการใหม่ในภาพรวมและลักษณะของกิจการเปิดใหม่ที่เปลี่ยนไปจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวต่อการลงทุนและการจ้างงานในระยะข้างหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตเท่ากับปี 2562 ได้ต้องขยายไปถึงกลางปี 2566 จากเดิมคาดว่าเป็นต้นปี 2566

 

ด้านศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย โดยนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ไปจนถึงปี 2565 ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

พชรพจน์ นันทรามาศ

คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2566 แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในปี 2565

ศูนย์วิจัยกรุงไทยคาดการณ์จีดีพีในปี 2565 จะอยู่ที่ 3.9% แต่หากภาครัฐมี นโยบายสนับสนุนที่ดีและสามารถควบคุมการระบาดได้จะทำให้การเติบโตของจีดีพีเติบโตได้ 6-8%

“มาตรการที่ภาครัฐจะออกมาควรจะมีการสนับสนุนในเรื่องของการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ภาคธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวไม่มาก รวมทั้งอาจจะขาดแคลนในด้านเงินทุนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วย”

นายพชรพจน์กล่าวอีกว่า ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรเม็ดเงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากสิ่งที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญคือเรื่องของเงินทุน

การสนับสนุนอาจอยู่ในรูปแบบโครงการเงินทุนคนละครึ่ง เพื่อเป้าหมายที่ครอบคลุมเอสเอ็มอีได้มากรายและใช้ดิจิตอลแพลตฟอร์ม เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องให้เอสเอ็มอีสำรองจ่ายเงินไปก่อน เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างแท้จริง

ช่วงที่เหลือของปี 2564 และปี 2565 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง และ เปราะบางในหลายมิติ ท่ามกลางความ ไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน