รายงานพิเศษ

ศึกในพปชร.กระทบชิ่งรัฐบาล

ภาพกอดกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อาจช่วยให้ภาพขัดแย้งระหว่าง พี่ใหญ่-น้องเล็ก ใน “3 ป.” ดูดีขึ้น

แต่ก็ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐที่ยังอึมครึม

และเป็นที่จับตาว่า แรงกระเพื่อมในพรรคพลังประชารัฐ จะส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลแค่ไหน

วิโรจน์ อาลี

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

หลังเคลียร์กันแล้วคิดว่าพรรคพลังประชารัฐคงสงบในระดับหนึ่ง แค่ชั่วคราว เพราะเป็นพรรคเฉพาะกิจที่มาพร้อมส.ส.จากหลายพรรค และมีหลายมุ้ง รวมถึงความไม่แน่นอน เห็นได้จากการแย่งชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคถึง 3 ชุดแล้ว

ที่สำคัญคือปัญหาความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคห่างเหินมาก วันนี้แม้สงครามดูเหมือนสงบ แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองในพรรคกับนายกฯ ไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหาก็จะกลับขึ้นมาอีก

ส่วนที่มองกันว่าความอึมครึมไม่ได้หมดไปหลัง พล.อ.ประยุทธ์ กอดกับ พล.อ.ประวิตร นั้น ก็เพราะอึมครึม ถึงต้องกอดกัน พล.อ.ประวิตร ในฐานะเป็นรองนายกฯ มาตลอดตั้งแต่ยุค คสช. แบกรับเรื่องหนักมามาก การ เข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ ประสานผลประโยชน์กับ นักการเมืองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

พล.อ.ประวิตร รับงานหนักขนาดนี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ถึงเวลานึกจะตัดสินใจอะไร เช่น ปลด ร.อ.ธรรมนัส โดยไม่ปรึกษาก่อน พล.อ.ประวิตร ย่อมรู้สึกได้ เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าหงุดหงิด แต่คงมีความพยายามเจรจาต่อรองในมิติอื่นๆ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามลอยตัวเองเหนือพรรคพลังประชารัฐโดยตลอด สมาชิกพรรคก็ไม่เป็น เหมือน ไม่ให้คุณค่า ที่บอกว่าจะเข้าไปทำนั่นนี่ ประสานส.ส. มากขึ้น ทำได้ไม่นานเดี๋ยวก็กลับไปเหมือนเดิม และจะทำให้แรงกดดันเดิมๆ กลับมาใหม่อีกรอบ

แม้ตั้งประธานยุทธศาสตร์คนใหม่ขึ้นมา ซึ่งในความหมายคือเลขาฯ พรรคคนใหม่ ทหารจะดีลกับนักการเมือง ประสานผลประโยชน์ต่างๆ ทำได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับร.อ.ธรรมนัส แขนขาของพล.อ.ประวิตรที่อยู่ในพื้นที่ นำไปสู่ท้องถิ่นได้อย่างจริงจัง อาจมีประสิทธิภาพมากกว่ากลไกของมหาดไทยด้วยซ้ำ

มีโอกาสสูงมากที่ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐจะสะเทือนรัฐบาล ตัวแปรสำคัญคือการตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา หาก 3 ป. หรือ 2 ป. จะมีอีกพรรคหนึ่งเป็นของตัวเอง

แล้วคนในพรรคพลังประชารัฐรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นตัวสำรอง

ด้วยความที่เป็นพรรคเฉพาะกิจโอกาสแตกเกิดขึ้นได้ ยิ่งบริหารจัดการสไตล์พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคและนโยบายพรรคได้รับการรับตอบสนองจากรัฐบาลได้ดีขึ้น คิดว่าพรรคแตกแน่นอน

ส่วนการลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์ ช่วงนี้ ไม่เกี่ยวว่าใกล้เลือกตั้ง ไม่ใช่สัญญาณยุบสภา แต่ต้องการไปขอบคุณ ไปกระชับมิตรกับกลุ่มส.ส.ในพรรคที่เชื่อว่าสนับสนุนตัวเอง และอาจมีการประสานผลประโยชน์กันใหม่

อาจเป็นการนับหัวส.ส. ที่เป็นกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีเท่าไร และจะสนับสนุนใครขึ้นเป็นเลขาฯ พรรค ที่จะเชื่อมกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มากกว่าร.อ.ธรรมนัส หรือจะเอามาคาน พล.อ.ประวิตร หรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป

สไตล์ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องอยู่ต่อแล้วลากไปให้ได้ ยกเว้น มีวิกฤตบางอย่างเกิดขึ้นจริงๆ ตามสถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้เป็นจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์จะบอบช้ำมากที่สุดหากยุบสภาแล้วเลือกตั้ง เขาต้องรอให้ฉีดวัคซีนได้มากๆ โรงเรียนเปิด เศรษฐกิจ เปิดได้ก่อน

อาจเป็น มี.ค. หรือ เม.ย.ปีหน้าถึงจะยุบสภา แต่อยู่ต่ออีกนิดเดียวก็จะครบเทอมแล้ว ฉะนั้นคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพยายามลากไปให้ได้มากที่สุด เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้นและเอาประโยชน์ตรงนั้นในการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

การยุบสภา ปัจจัยภายในคือพรรคพลังประชารัฐ ปัจจัยภายนอกคือการเมืองบนท้องถนน รวมถึงอุบัติเหตุทางการเมืองและปัญหาการบริหารที่ถูกเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจเกิดการยุบสภาขึ้นได้ แต่ส่วนตัวลึกๆ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์คงอยู่ยาวจนครบวาระ

คงประเมินหลังเลือกตั้งท้องถิ่นเพราะจะเป็นการเช็กเสียงหนุน หากสถานการณ์ดูไม่ค่อยโอเค รัฐธรรมนูญอาจไม่ต้องแก้ การยุบสภาจึงขึ้นอยู่ว่าสภาวะตอนนั้นเป็นอย่างไร

 

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ที่หลายคนมองว่าความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐถูกสยบด้วยภาพการกอดกันของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร แต่ส่วนตัวมองว่าที่จริงแล้วทั้ง 2 คน ไม่ได้ขัดแย้งกัน แต่เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พอใจร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน

แต่คนนอกไปคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร มีปัญหาไม่ถูกกัน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย

ประเด็นสำคัญคือพล.อ.ประยุทธ์ ไม่พอใจรัฐมนตรีทั้ง 2 คน ที่ไปก่อหวอดภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงมีการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และกดดันให้นายกฯ ได้รับคะแนนไว้วางใจน้อย พูดง่ายๆ คือไปท้าทายนายกฯ และมีการต่อรองอยากปรับครม.

ที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คือ นายกฯ ได้คะแนนไว้วางใจน้อยมาก โดยได้ลำดับรองบ๊วย ทำให้เกิดความไม่พอใจ เป็นที่มาของการปลด ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ซึ่งเรานึกกันไปเองว่าการสั่งปลดครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้พล.อ.ประวิตร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่เกี่ยวกัน

แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะสนิทสนมกับทั้ง ร.อ.ธรรมนัส และนางนฤมล ก็ตาม เพราะการปลดเหมือนเป็นการลงโทษว่าเมื่อใครก็ตามที่กระด้างกระเดื่อง ก่อหวอด เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีในพรรค จนทำให้พรรคเกิดความไม่มั่นคง ก็ปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี

แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร กินแหนงแคลงใจกัน ส่วนตำแหน่งต่างๆ ในพรรค ก็เป็นการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือการถูกลงโทษเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ย่อมมีแรงกระเพื่อมในรัฐบาลทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง เพราะอย่าลืมว่า ร.อ.ธรรมนัส มีมุ้ง มีส.ส.ของตัวเอง ส่วนจะส่งผลกระทบมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนส.ส.ที่อยู่ในมุ้งของ ร.อ.ธรรมนัส

หากมีส.ส.จำนวนมาก ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่พอใจอยู่แล้ว แต่ถ้ามีส.ส. ไม่มากก็ไม่มีปัญหา

สำหรับการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มลงพื้นที่มากขึ้นคงไม่ได้เป็นสัญญาณเรื่องการยุบสภา หรือจะอยู่ไม่ครบเทอม แต่มองว่าช่วงที่ผ่านมา นายกฯเก็บตัวช่วงโควิด – 19 อยู่นาน เมื่อสถานการณ์เบาลงประกอบกับปัญหาอุทกภัยที่เข้ามาพอดี ทำให้นายกฯ จำเป็นต้องลงพื้นที่

ไม่เกี่ยวกับการส่งสัญญาณการเลือกตั้ง คิดว่ายังไม่มีสิ่งที่ ส่อเค้าว่าจะมีการเลือกตั้งในเร็วๆนี้ ส่วนหนึ่งมองจากคะแนนโหวตที่ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลคะแนนเสียงยังสูง และมีเสถียรภาพ

หากจะมีการยุบสภาจริง ปัจจัยสำคัญคือเรื่องความแตกแยกภายในพรรครัฐบาล โดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่างพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากปัจจัยอื่นไม่มีอะไรที่ต้องกังวล ทั้งกองทัพ องค์กรอิสระ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

จึงเป็นที่มาการแสดงความไม่พอใจของนายกฯ เพราะเมื่อปัจจัยภายนอกไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่กลับมีคนทำให้เกิดความสั่นคลอนภายในพรรคพลังประชารัฐ จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา

ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่เลือกยุบสภาในตอนนี้ แต่คงอยู่จนนาทีสุดท้าย ยิ่งถ้าไม่มีประเด็นอะไรเป็นลางบอกเหตุ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่เลือกวิธียุบสภาอย่างแน่นอน

 

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อุบลราชธานี

ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐมีผลสะเทือนต่อรัฐบาลแน่นอน ในเชิงภาพลักษณ์ของพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาล มีบทบาทคุมส.ส.และส.ว. และบทบาทในการเป็นผู้บริหาร

มีผลอย่างมากต่อความรู้สึกของประชาชนในเชิงปฏิกิริยาการเมือง ที่ทำให้คลางแคลงใจว่าเกิดอะไรขึ้นในรัฐบาล ในกลุ่มผู้บริหาร และกลุ่ม 3 ป.ด้วย

ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในมิติการบริหารในทาง การเมือง เป็นเรื่องที่สะเทือนต่อรัฐบาลอย่างมาก เพราะกลุ่ม3 ป. มีบทบาทมาตั้งแต่การยึดอำนาจ ขณะที่ชาวบ้านทราบว่าคนที่มีบทบาทในกลุ่มส.ส. คือพล.อ.ประวิตร

และแยกบทบาทกันชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์ดูแลคณะรัฐมนตรี การบริหารบ้านเมือง จะไม่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับส.ส.พลังประชารัฐ ที่มอบอำนาจเต็มให้ พล.อ.ประวิตร ดังนั้น ถ้าเกิดภาพความขัดแย้ง ย่อมมีผลสะเทือนต่อภาพลักษณ์รัฐบาลอย่างมาก

ส่วนภาพกอดกันของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร เป็นเรื่องปกติของทุกพรรคเวลามีเรื่องระหองระแหงกัน ขัดแย้ง ก็ต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมเกลียว กอดคอ จูบปากกัน เป็นเรื่องปกติที่เห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย

แต่ปัจจุบันไม่เหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านรู้เท่าทัน ยุค โซเชี่ยลชาวบ้านไม่ได้มีข้อมูลทางเดียวเหมือนสมัยก่อน การกอดกันจึงเป็นจิตวิทยาทางการเมืองง่ายๆ ธรรมดาทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าตัวเองยังรักกลมเกลียวกันอยู่

คนที่ถูกปรับออกมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ เป็นคนสนิทที่ พล.อ.ประวิตร ไว้เนื้อเชื่อใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องคลางแคลงใจว่าทำไมคนสนิทพล.อ.ประวิตร คือ ร.อ.ธรรมนัส มาทำอะไรที่ตัวเองไม่รับรู้ จึงโยงถึงการแยกส่วนกันแสดงบทบาท อาจมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ถ้าเป็นจริงก็สะเทือน พล.อ.ประยุทธ์

การยุบสภาเป็นเรื่องน่าติดตาม ในเมื่อมีภาพความขัดแย้ง และการลงพื้นที่ของนายกฯ อาจมองได้บทบาทหนึ่งเป็นหน้าที่ของผู้บริหารเยี่ยมเยียนประชาชนช่วงหน้าฝน ไปดูพื้นที่ชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ของตระกูลนาคาศัยที่อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เป็นทีมเดียวกัน และเป็นพื้นที่ที่บริหารจัดการได้ง่าย ได้คะแนน ได้ภาพ หรือไปตามการแก้โควิด-19 ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

แต่ขณะเดียวกันก็มีสัญญาณหลายอย่างประเดประดัง เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของพรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ที่เตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ ปัจจัยคือ การบริหารจัดการความขัดแย้งลงตัวกันดีหรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่จบกระบวนการ ที่สำคัญคือการแก้ไขกฎหมายลูก การคำนวณส.ส.จะใช้แบบไหน ซึ่งจะอยู่ครบเทอมหรือจะยุบสภามันขึ้นอยู่กับตรงนี้ด้วย

อีกปัจจัยหนึ่งคือการเลือกตั้ง อบต. ซึ่งมีพื้นที่ทั่วประเทศ พรรคพลังประชารัฐคงไม่นิ่งดูดายที่จะใช้ประโยชน์จากการเลือกตั้งอบต. เพื่อชิมลางหรือวัดคะแนนนิยมของตัวเอง มองแล้วคิดว่าน่าจะมีการเลือกตั้งหลังปีใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน